โครงการเครือข่ายงานวิจัยทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพ นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า “ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันดำเนินการตรวจประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานที่ดำเนินการมาแล้ว 3-5 ปีเช่นโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลธร จ.ชลบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี เป็นต้น เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันเนื่องมาจากการดำเนินโครงการนอกจากนี้ยังจะมีการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์สำหรับประเมินคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการคาดการณ์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และสามารถวางแผนจัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบคุณภาพน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ด้าน ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า “รู้สึกยินดีและขอบคุณกรมชลประทานที่ให้เกียรติร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการเครือข่ายงานวิจัยทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านงานวิจัยทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพระหว่างทั้งสองหน่วยงานเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและระบบคุณภาพในห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO / IEC 17025 ศึกษาคุณสมบัติวิเคราะห์ทดสอบและพัฒนาวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานด้านชลประทานสู่ระบบมาตรฐานสากลตลอดจนประเมินคุณภาพน้ำและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการพัฒนาด้านชลประทานโดยมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือไว้ 3 ปี”
โดยทั้งสองหน่วยงานจะมีการพัฒนาวัสดุทางเลือกใหม่จากธรรมชาติในการป้องกันการกัดเซาะ ตลิ่งสำหรับประตูระบายน้ำในงานชลประทานลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการชลประทานอย่างยั่งยืนมุ่งเน้นการยกระดับความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบงานชลประทานสู่มาตรฐานสากลร่วมกันภายในปี 2561 ตามนโยบาย 4.0 พร้อมช่วยศึกษาประเมินคุณภาพน้ำและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการพัฒนาด้านชลประทานรวมไปถึงการพัฒนาวัสดุคอมโพสิตสำหรับประตูระบายน้ำในงานชลประทาน โดยใช้วัสดุคอมโพสิตพอลิเมอร์ร่วมกับเส้นใยเสริมแรงและโครงเหล็กรับแรงทำหน้าที่เป็นแผ่นหน้าประตูระบายน้ำ ซึ่งมีราคาที่ประหยัดลดการใช้โลหะขนาดใหญ่สามารถใช้ทดแทนประตูระบายน้ำเดิมและใช้กว้านเดิมยกประตูได้
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการร่วมมือนี้คือการได้แลกเปลี่ยนความรู้กันของบุคลากรทั้ง 2 หน่วยงานซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศในองค์รวมทั้งความสำเร็จและการพัฒนาที่รวดเร็วขึ้นตามนโยบาย 4.0 มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและรายงานผลต่อสาธารณชนได้เป็นระยะ