ผลสำรวจครั้งนี้เจาะลึกถึงทัศนคติของผู้บริโภคในปัจจุบันเกี่ยวกับการชำระเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และสำรวจเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคจาก 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในผลสำรวจเกี่ยวกับประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า 73 เปอร์เซ็นต์ พวกเขาชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินผ่านบัตร อุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ อย่างสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สวมใส่ มากกว่าชำระผ่านเงินสด แสดงให้เห็นถึงการเลี่ยงการใช้เศษเหรียญและธนบัตรอย่างจริงจัง กลุ่มผู้คนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง (เจเนอเรชั่นวาย: อายุ 18 – 36 ปี) นับได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด (83 เปอร์เซ็นต์) เมื่อเทียบกับตลาดทั่วไป (68 เปอร์เซ็นต์) เหตุผลหลักกว่า 60 เปอร์เซ็นต์มาจากเรื่องของความไม่ปลอดภัยในการถือเงินสด ซึ่งมากกว่าปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 57 เปอร์เซ็นต์ และอีกเหตุผลหนึ่งคือ สามารถเข้าถึงการเบิกถอนเงินสดได้ง่ายยิ่งขึ้น (48 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งเพิ่มจาก 38 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558
สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ด้วยนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาทดลองชำระเงินที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากจำนวนผู้บริโภคชาวไทย (67 เปอร์เซ็นต์) ที่เลือกการชำระเงินแบบอัตโนมัติ ที่ลดขั้นตอนการทำธุรกรรมทางกายภาพทั้งหมด ซึ่งนวัตกรรมนี้เริ่มเข้ามาพร้อมกับตอนที่เราได้เห็นการเติบโตของระบบเศรษฐกิจออนดีมานด์ (on-demand) โดยเฉพาะในแอพพลิเคชั่นสำหรับการเดินทาง ทำให้ทุกคนต่างมองหาการช่องทางที่ รวดเร็ว ปลอดภัย และสะดวกโดยไม่ต้องแสดงบัตรในการชำระเงิน”
นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยยังให้ความสนใจกับเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ วิธีการในการยืนยันตัวตนเพื่อชำระเงิน ซึ่งกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกสบายใจในการใช้เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ อาทิ ลายนิ้วมือ และระบบการจดจำใบหน้า ซึ่งถือได้ว่า มีเปอร์เซ็นต์ตอบรับสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกลุ่มคนที่สนใจการระบุตัวตนด้วยไบโอเมทริกซ์จะสามารถเห็นได้ชัดในกลุ่มเจเนอเรชั่นวาย โดย 79 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มนี้ไม่มีปัญหาในการใช้ไบโอเมทริกซ์ เมื่อเทียบกับกลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (อายุ 37 – 51 ปี) ซึ่งอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์
“เห็นได้ชัดว่าการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งจากนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วอย่าง วีซ่า เพย์เวฟ ซึ่งเป็นการชำระเงินไร้สัมผัสที่มีขยายจุดรับบัตรมากขึ้นไปยัง ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารทั่วประเทศ เราจึงไม่แปลกใจที่เห็นผู้ทำแบบสอบถามกว่า 82 เปอร์เซ็นต์พร้อมที่จะเลือกชำระเงินแบบไร้สัมผัสมากกว่าเงินสด ถ้าร้านค้าแนะนำให้ใช้” สุริพงษ์กล่าวเสริม การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับบริการแบบออนดีมานด์ ไม่ว่าจะเป็น การส่งอาหาร การส่งของอุปโภคบริโภค การขนส่ง และการท่องเที่ยว มีความก้าวหน้ามากขึ้นในประเทศไทย นอกจากนี้ จาก การสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภค ยังแสดงให้เห็นว่า 54 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยใช้บริการแบบออนดีมานด์ในประเทศไทยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยมากถึง 29 เปอร์เซ็นต์ใช้บริการราว 2 – 3 ครั้งต่อเดือน โดยบริการบริการจัดส่งอาหารออนไลน์มีผู้ใช้มากที่สุดคือ 3 ใน 4 (75 เปอร์เซ็นต์) ถึงแม้ว่าเงินสดยังคงเป็นช่องทางการชำระเงินหลัก (71 เปอร์เซ็นต์) แต่การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์กำลังไต่อันดับตามขึ้นมา ซึ่งครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (47 เปอร์เซ็นต์) ตอบว่าพวกเขาอาจจะลองชำระเงินผ่าน “การ์ด ออนไฟล์ (card on file)” หรือการลงทะเบียนบัตรเข้าแอพพลิเคชั่น ในขณะที่ 56 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าพวกเขาต้องการชำระเงินเมื่อได้รับของที่สั่งแล้วด้วย โมบายวอลเล็ต (mobile wallet)
“ไม่ว่าจะเป็น โมบายวอลเล็ต เพย์เมนท์ เกตเวย์ หรือเทคโนโลยีการชำระเงิน อื่นๆ ผลสำรวจของเราได้แสดงให้เห็นว่า โดยพื้นฐานแล้ว คนไทยยังคาดหวังให้ประสบการณ์การชำระเงินของพวกเขา ปลอดภัย เร็ว และเชื่อถือได้ (82 เปอร์เซ็นต์) และด้วยเครือข่ายการชำระเงินระดับโลกอย่างวีซ่า ที่สามารถประมวลและควบคุมการทำธุรกรรมได้มากกว่า 65,000 รายการภายในหนึ่งวินาที อย่างมีเสถียรภาพ จะสามารถตอบสนองความต้องการได้มากกว่าที่หวังไว้ได้อย่างแน่นอน” สุริพงษ์กล่าว ปิดท้าย