ทั้งนี้ ธนาคารโลกรายงานว่า ภายในปี 2593 โลกจำเป็นต้องผลิตอาหารเพิ่มอีก 50% หากประชากรโลกยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราปัจจุบัน นอกจากนี้ ผู้บริโภคก็ให้ความสนใจด้านคุณภาพของสินค้าเกษตรมากขึ้น เช่น ต้องมีสีสันและรูปร่างสวยงาม เก็บรักษาได้นานขึ้น อีกทั้งยังต้องปลอดภัยที่จะรับประทาน ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคยังคาดหวังจะได้รับประทานสินค้าเกษตรที่มีคุณประโยชน์สูงขึ้น เช่น มีวิตามินซีสูงกว่าเดิม
กุญแจสำคัญที่จะช่วยตอบโจทย์ดังกล่าว คือ การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้แทนแรงงาน เพราะนอกจากจะช่วยให้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารได้มากขึ้น มีต้นทุนต่ำลง ยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตหรือการเก็บเกี่ยวได้ค่อนข้างแม่นยำ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในอนาคตอันใกล้จะได้เห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจผลิตหุ่นยนต์ในภาคเกษตรกรรม สอดคล้องกับที่บริษัทวิจัยตลาด Tractica ประเมินว่าในปี 2567 ตลาดหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรของโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 74.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและยอดขายหุ่นยนต์เกษตรจะเพิ่มขึ้นเป็น 594,000 ตัวต่อปี โดยขณะนี้มีผู้ผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้ในภาคเกษตรกรรมอยู่หลายในประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อิสราเอล และญี่ปุ่น กิจกรรมทางการเกษตรที่หุ่นยนต์สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ อาทิ
- หยอดเมล็ดพันธุ์ อาทิ หุ่นยนต์หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งสามารถปลูกข้าวได้เป็นแถวเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ มีระยะห่างระหว่างหลุมที่สม่ำเสมอ และกำหนดจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่หยอดในแต่ละหลุมได้
- กำจัดแมลงศัตรูพืช อาทิ หุ่นยนต์ที่จะวิ่งไปรอบๆ ไร่หรือแปลงเกษตรเพื่อสแกนหาแมลงศัตรูพืชและฉีดยาฆ่าแมลงไปที่ตัวแมลงนั้นได้อย่างแม่นยำ หรือหุ่นยนต์ไต่ต้นมะพร้าวสำหรับกำจัดศัตรูพืช ซึ่งผู้ใช้จะควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ด้วยรีโมทคอนโทรล เมื่อหุ่นยนต์ไต่ขึ้นถึงยอดแล้วจะฉีดพ่นใต้ใบมะพร้าวเพื่อกำจัดแมลง
- กำจัดวัชพืช อาทิ หุ่นยนต์กำจัดวัชพืชที่วิ่งไปทั่วไร่เพื่อถอนวัชพืชขึ้นจากดิน หรือโดรนที่บินวนเพื่อตรวจหาวัชพืช หากพบว่าจุดไหนมีวัชพืชขึ้นอยู่หนาแน่นก็จะส่งสัญญาณให้โดรนตัวอื่นเข้าไปพ่นยากำจัดวัชพืช
- กำจัดวัชพืช อาทิ หุ่นยนต์กำจัดวัชพืชที่วิ่งไปทั่วไร่เพื่อถอนวัชพืชขึ้นจากดิน หรือโดรนที่บินวนเพื่อตรวจหาวัชพืช หากพบว่าจุดไหนมีวัชพืชขึ้นอยู่หนาแน่นก็จะส่งสัญญาณให้โดรนตัวอื่นเข้าไปพ่นยากำจัดวัชพืช
- เก็บเกี่ยวผลผลิต อาทิ หุ่นยนต์ซึ่งติดแขนกลที่รถบรรทุกเล็กเพื่อใช้ในการเก็บผลผลิต โดยทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์และกล้องถ่ายภาพสีในการจำแนกตำแหน่งและผลผลิตที่เหมาะในการเก็บ
- ตรวจสภาพพื้นที่การเกษตร อาทิ หุ่นยนต์เซ็นเซอร์ที่วิ่งเก็บข้อมูลในไร่ เช่น ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน และความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมทั้งโดรนติดเซ็นเซอร์ที่จะบินขึ้นไปเก็บข้อมูล และภาพมุมสูงของไร่ ทำให้เกษตรกรสามารถตรวจสภาพผลผลิตและปัจจัยต่างๆ ได้
การใช้หุ่นยนต์เพื่อการเกษตรในปัจจุบันเป็นมากกว่าเครื่องทุ่นแรง เพราะไม่เพียงแต่ช่วยลดระยะเวลาและลดการใช้แรงงาน แต่หุ่นยนต์เพื่อการเกษตรหลายชนิดสามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน ขณะที่หุ่นยนต์บางชนิดสามารถควบคุมปริมาณการใช้น้ำและปริมาณการใช้ยาฆ่าแมลงอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไปจนทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะได้ผ่านการคำนวณแล้ว นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมเวลาในการเก็บเกี่ยวให้เหมาะสม เป็นการช่วยลดปริมาณผลผลิตเหลือทิ้งได้ ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรพบหนทางแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้วยหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรแล้ว นวัตกรรมทางการเกษตรก็กำลังช่วยปลดล็อกข้อจำกัดของประเทศที่เคยต้องนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร เพราะพื้นที่ทางการเกษตรที่มีจำกัด สภาพภูมิอากาศไม่เหมาะสม และจำนวนแรงงานในภาคเกษตรไม่เพียงพอ ทำให้ประเทศเหล่านี้มีทางเลือกในการพึ่งพาผลผลิตการเกษตรในประเทศของตนเพิ่มขึ้น
อาทิ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญที่เริ่มให้ความสนใจพัฒนาการทำนาข้าวอัจฉริยะ (Smart Paddy) และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 6.6 ตารางกิโลเมตร หันมาพัฒนาการเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farm) อย่างจริงจังมากว่า 5 ปี โดยมีเป้าหมายในการส่งออกผักที่ปลูกด้วยวิธีดังกล่าวออกสู่ตลาดโลก ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก นอกจากจะต้องพร้อมปรับตัวเข้าสู่ยุคการใช้หุ่นยนต์เพื่อการเกษตรของโลกแล้ว ยังอาจต้องเร่งพัฒนาความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของโลกแห่งอนาคต ข้อมูลโดย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย