“ปกรณ์ ปรีชาวิทย์” เจ้าของธุรกิจ “นายป้อมซูเปอร์เล้ง” อธิบายว่า “เล้ง” ที่เราเคยได้ยินกัน มีชื่อเต็มๆ ว่า เอี๊ยะเล้ง หรือเอียวเล้ง ซึ่งมันคือ ต้มกระดูกสันหลังหมู ที่ต้มจนเปื่อยเนื้อยุ่ย ทานแล้วแทบละลายในปาก ส่วนน้ำซุปนั้นจะถูกปรุงรสด้วยพริก มะนาว และผักอื่นๆ ทำให้ได้น้ำซุปที่ครบรส ทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ทานคู่กับข้าวสวยร้อนๆ
ปกรณ์ เล่าย้อนกลับไปถึงช่วงชีวิตก่อนหน้าที่จะมาเปิดร้าน “นายป้อมซูเปอร์เล้ง” ว่า เมื่อก่อนครอบครัวทำธุรกิจโรงกลึงเล็กๆ มีพนักงานไม่กี่คน คุณพ่อก็ต้องลงมือช่วยลูกน้องทำด้วย โดยที่ตัวเขาถูกวางให้มาสืบทอดธุรกิจต่อไป แต่หลังจากที่เรียนจบวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยรังสิต เขาก็ได้เริ่มต้นไปทำงานที่โรงงานผลิตของชาวญี่ปุ่น เพื่อหาประสบการณ์เพื่อที่นำจะมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจของครอบครัว และหลังจากที่ทำงานเป็นลูกจ้างที่โรงงานได้ 2 ปี ปกรณ์ก็ผันตัวเองกลับมาเป็นเจ้าของที่ธุรกิจโรงกลึงของที่บ้าน แต่ด้วยยังไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการบริหารงานและการหาคอนเน็คชั่นกับลูกค้า ทำให้ไม่สามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างที่ตั้งใจไว้ แถมยังพ่วงมาด้วยหนี้กว่า 6 ล้านบาทจากการไปกู้ธนาคารเพื่อซื้อเครื่องจักรรุ่นใหม่ เมื่อธุรกิจโรงกลึงหารายได้ไม่พอจ่าย ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าผ่อนเครื่องจักร ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ปกรณ์ต้องหารายได้เสริมด้วยการไปเป็นพ่อค้าขายเล้งตามตลาดนัด โดยได้สูตรมาจากคุณพ่อที่หันไปขายข้าวหมูกรอบและซุปเปอร์เล้งที่ย่านคลอง 4 ปทุมธานี
“เริ่มขายครั้งแรกเมื่อช่วงปี 2558 ไปขายกับแฟนที่แดนเนรมิต ซึ่งร้านเราทำป้ายใหญ่มากเพื่อให้คนเห็นได้ชัด วันแรกทำไปหม้อเดียว 20 กิโลกรัม ปรากฏว่าขายหมดเร็วมาก เป็นเพราะลูกค้าอยากจะลองดูว่ามันคืออะไร เพราะในตอนนั้น เล้ง นี้ยังไม่เป็นที่รู้จักเหมือนกับปัจจุบัน” ปกรณ์ กล่าวเสริม
หลังจากขายอยู่ที่แดนเนรมิตได้ 6 เดือน ทางตลาดก็ยุบไป จนต้องย้ายร้านไปที่แถว ม.ราชมงคลธัญบุรีคลองหก ซึ่งผลตอบรับจากลูกค้าที่นี่ก็ดีไม่แพ้กัน ได้วันละไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท จากชามละ 80 บาทเท่านั้น และเมื่อเห็นลูกค้ามาอุดหนุนมากขึ้นทุกวัน ปกรณ์จึงเห็นถึงโอกาสที่จะขยายธุรกิจ ด้วยการมาเปิดร้านที่ในกรุงเทพฯ โดยที่เริ่มจากตลาดนัดหัวมุม เกษตร-นวมินทร์ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าหลายคนต่างบอกว่าเป็นตลาดปราบเซียนที่ไม่ว่าขายดีจากที่อื่นแค่ไหน มาที่นี่ต้องแย่ลงไปแทบทุกราย
“แทบจะเหมือนกับคำบอกเล่าทุกประการ พอไปเปิดที่ตลาดหัวมุม จากเดิมที่เคยขายได้วันละ 3 หม้อ พอมาที่นี่ขายได้ไม่ถึงหม้อด้วยซ้ำ ถึงแม้ตลาดคนจะเดินเยอะ ร้านอื่นก็มีลูกค้าแน่น แต่ร้านเราขายแทบไม่ได้เลย ซึ่งเป็นอยู่อย่างนั้นเกือบเดือนก็ยังไม่ดีขึ้น จนแม่บอกว่าถ้าวันสุดท้ายขายไม่หมดก็ควรปิดร้าน โดยมองว่า สาเหตุก็น่าจะมาจากการที่ลูกค้ายังไม่รู้จักร้านเราและไม่รู้ว่าเล้งมันคืออะไร” ปกรณ์ เล่า ++แต่ในช่วงที่ย่ำแย่นั้น โชคชะตาก็เป็นใจให้ปกรณ์อีกครั้ง เมื่อมีแอดมินเพจดัง มารีวิวอาหารที่ร้าน จนทำให้มีลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาลองซิมมากขึ้นเป็นเท่าตัว จากที่ขายไม่หมดหม้อก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนขยายโต๊ะจาก 8 ตัว ก็เพิ่มเป็น 18 โต๊ะ ซึ่งนับจากวันนั้น ร้านนายป้อมซุ้มเปอร์เล้ง ก็ยังคงขายดีอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน ขยายสาขาเป็น 15 แห่ง อาทิ ตลาดรถไฟศรีนครินทร์ ตลาดนัดเรือบินสมุทรปราการ และเมืองทองธานี เป็นต้น ซึ่งแต่ละแห่งมีลูกค้าไม่ต่ำกว่าพันคน ขายได้กว่าวันละ 300 ชามต่อสาขา ทำรายได้รวมกัน เกือบ 100 ล้านบาทต่อปี
สิ่งที่ทำให้ นายป้อมซุปเปอร์เล้ง ประสบความสำเร็จได้อาจจะดูเหมือนได้โชคชะตาช่วย แต่แท้จริงแล้ว มันเกิดจากความอดทนไม่ยอมแพ้ของปกรณ์ เพราะถ้าวันนั้นเขาตัดสินใจล้มเลิก แล้วปิดร้านไปก่อนที่จะมีคนมารีวิวอาหาร เราคงไม่ได้เห็นเล้งร้อยล้านอย่างทุกวันนี้
“ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร ขายอะไร ก็อย่าพึ่งท้อ อย่าพึ่งถอดใจเร็ว ของทุกอย่างมันต้องให้เวลา ทุกอาชีพมันไม่มีทางตัน ไม่มีคำว่าทำไม่ได้ แค่เราต้องใช้ความอดทนพยายามอย่าสูงเพื่อที่จะสู้กับปัญหาต่างๆ แล้วสักวันหนึ่งมันก็จะประสบความสำเร็จ” ปกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย บรรยายภาพ 1.ปกรณ์ ปรีชาวิทย์ ภาพจาก www.facebook.com/naipomsuperleng