คุณสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 มอบหมายให้ สสว. ดำเนินโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอี (Turnaround) เพื่อช่วยฟื้นฟูกิจการของ SME ที่มียอดขายตกต่ำเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือจากปัจจัยอื่นๆ พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ สสว. ดำเนินโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้กู้ยืมระยะยาวแก่ SME ในโครงการ Turnaround ที่เคยเป็น NPL แต่ได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย บัดนี้ โครงการ Turnaround ได้ดำเนินการครบถ้วนตามแผนงานที่กำหนดไว้แล้ว กล่าวคือ มี SME สมัครเข้าร่วมโครงการ 13,751 ราย สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 10,000 ราย
ทั้งนี้ กิจการที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภทค้าปลีก-ค้าส่ง ก่อสร้าง และบริการด้านต่างๆ สสว. ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ของ SME ที่สำคัญ ได้แก่ จัดทำแผนปรับปรุงธุรกิจเชิงลึกจำนวน 4,445 ราย และช่วยเจรจาหนี้ระหว่างผู้ประกอบการกับธนาคาร ปัจจุบัน SME ในโครงการ Turnaround ได้รับอนุมัติการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้แล้ว 330 ราย วงเงิน 273 ล้านบาท และอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาอีก 1,720 ราย “การดำเนินโครงการ Turnaround สามารถช่วยฟื้นฟู SME ไทยได้ 4,445 ราย เมื่อ SME พอมีกำลังจะทำกิจการต่อไปได้แล้ว ก็จะส่งเข้าโครงการอื่นๆ
โดยเฉพาะ การพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ในโลกยุคปัจจุบัน “คุณสาลินี กล่าว สำหรับผู้ประกอบการ SME อีก 8,000 กว่ารายที่เหลือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ช่วยวินิจฉัยและให้คำปรึกษา เพื่อปรับปรุงกิจการต่อไป เช่น ให้ความรู้ด้าน E-Commerce การจัดหาพื้นที่ขายสินค้า การทำ packaging รวมทั้งมีการแจกคูปองจากบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำไปใช้ในการตรวจและรับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเป็นการยกระดับสินค้าและบริการ เป็นต้น ผอ.สสว. เผยด้วยว่า จากจำนวนผู้ประกอบการที่เข้าโครงการ เมื่อศึกษารายละเอียดจากการดำเนินโครงการ พบว่า
ปัญหาหลักๆ SME คือ
1. การตลาด ขาดการพัฒนาสินค้าหรือสินค้าไม่ตรงความต้องการของผู้บริโภค
2. ต้นทุนสูง ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เสียเปรียบในการแข่งขัน
3. สภาพคล่องตึงตัว เงินทุนหมุนเวียนติดขัด หากทิ้งไว้มีโอกาสสูงที่จะต้องเลิกกิจการ