ดร.สุภโชค ตันพิชัย อาจารย์ประจำสถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าเส้นใยที่ได้จากใบสับปะรดนั้นมีความแข็งแรงสูงเมื่อเทียบกับเส้นใยธรรมชาติประเภทอื่นๆ จึงเหมาะแก่การนำไปใช้วัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการเตรียมเส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโน
“สำหรับเส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโน เป็นเส้นใยที่มนุษย์ผลิตขึ้น โดยการนำเซลลูโลสซึ่งเป็นพอลิเมอร์ที่มีอยู่มากในธรรมชาติและเป็นองค์ประกอบหลักในพืชชนิดต่างๆ มาผ่านกระบวนการทำให้เป็นสารละลายหรือของเหลวแล้วฉีดขึ้นรูปเป็นเส้นใย” ดร.สุภโชค กล่าวเสริม
โดยงานวิจัยนี้ใช้ใบสับปะรดเป็นสารตั้งต้นในการเตรียมเส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโน ผ่านกระบวนการระเบิดด้วยไอน้ำแรงดันสูง เพื่อทำลายพันธะที่ยึดเกาะกันระหว่างเส้นใยเซลลูโลสระดับไมโคร จนได้เป็นเส้นใยขนาดนาโนที่มีการกระจายตัวแยกออกจากกัน ซึ่งมีคุณสมบัติหลายประการ ทั้งมีความแข็งแรงสูง น้ำหนักเบา ทนทานต่อสารเคมี สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และมีลักษณะโปร่งแสง จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้หลากหลาย เช่น ฟิล์มห่ออาหารที่จะช่วยให้แข็งแรงขึ้น แต่ยังคงความโปร่งใส ผ้าปิดแผล และหลอดเลือดเทียม เป็นต้น
“ผลสำเร็จของงานวิจัยนี้ คาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรสามารถนำวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหล่านั้น และเป็นการเพิ่มรายได้ในครัวเรือนให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังเป็นการเตรียมองค์ความรู้เพื่อนำส่งให้กับทางภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากเส้นใยเซลลูโลสขนาดนาโน เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ หรืออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์" ดร.สุภโชค กล่าวทิ้งท้าย