- กำหนดจำนวนเงินในกระเป๋า
ช่วยจำกัดการใช้จ่าย โดยอาจจะมีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายในช่วง (ระยะ) 1-2 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยให้รู้จำนวนเงินที่สามารถใช้ได้ และใช้เงินเท่ามีในกระเป๋า หากเงินในกระเป๋าเหลือน้อยแล้วไม่ควรกด ATM เพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น วิธีนี้จะช่วยให้เราตระหนักรู้ ตระหนักใช้ เลือกใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็นตามงบประมาณที่มี
- เก็บเงินแยกไว้ให้ชัดเจน
ในเงินออมที่เก็บไว้นี้ให้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นเงินเก็บที่ไม่ถูกนำมาใช้เลย โดยอาจจะเก็บออมในรูปของบัญชีเงินฝากประจำเท่ๆ กันทุกเดือน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลาลงทุน ส่วนที่ 2 นำมาใช้ในยามจำเป็น เมื่อเกิดปัญหาสามารถกดมาใช้ได้ทันที
- อย่าซื้อของตามใจ
แยกแยะความจำเป็น และความอยากออกจากกัน เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ แม้จะผ่อนชำระ 0% แต่หากไม่ซื้อก็จะไม่ต้องจ่ายเงิน และไม่เป็นหนี้อีกด้วย หรือก่อนตัดสินใจซื้อ ให้กลับมาคิดทบทวนอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปอีก 2-3 วัน เราอาจจะไม่ได้อยากได้สินค้านั้นแล้วก็ได้ ฉะนั้นก่อนตัดสินใจจ่ายเงินซื้อสินค้าทุกครั้งให้ถามตนเองก่อนเสมอว่ามีความจำเป็นต้องใช้สิ่งของเหล่านั้นหรือไม่
- ไม่ซื้อของที่มีอยู่แล้วซ้ำอีก
ควรสำรวจสิ่งของที่มีอยู่เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และยังเป็นการช่วยลดรายจ่าย ทำให้เรามีเงินเหลือเก็บมากขึ้น
- ปาร์ตี้สังสรรค์อย่างพอดี
การทานอาหารนอกบ้านโดยเฉพาะมื้อเย็น หรือวันหยุด มักจะต้องใช้เงินมากกว่าปกติ ลองหันมาทำอาหารรับประทานในบ้าน นอกจากจะช่วยประหยัดแล้ว ยังเป็นการใช้เวลากับคนในครอบครัว เรียกว่าอิ่มทั้งกาย และยังอิ่มใจไปพร้อมๆ กัน
- ทุกครั้งที่ใช้บัตรเครดิตต้องระวังอยู่เสมอ
ไม่ใช้เกินแผนการใช้เงินที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก และจ่ายชำระยอดหนี้บัตรเครดิตเต็มจำนวนทุกครั้ง เป็นการใช้ประโยชน์จากบัตรเครดิต ในแง่ของความสะดวกสบาย และลดความเสี่ยงจากการถือเงินสดจำนวนมากๆ แต่ไม่ควรสร้างหนี้จากบัตรเครดิตโดยการทยอยจ่าย หรือจ่ายไม่เต็มจำนวน
ที่มา : K-expert