เด็กบ้านนอก สู่เมืองกรุง มุ่งเล่าเรียน
ชัยประเสริฐ เนตรอนงค์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำปาง เล่าให้ฟังว่า เดิมนั้นตนเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเด็กบ้านนอกซึ่งเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจน พ่อแม่มีอาชีพทำไร่ ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงหมูส่วนทางด้านการเรียนนั้น ยอมรับว่าไม่ใช่เด็กหัวดีอย่างใครเขา โดยภายหลังจากการจบ มศ.5 ที่โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ก็ได้สอบเอนทรานซ์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะชอบการเกษตรปลูกต้นไม้ แต่ปรากฏว่าสอบไม่ติด จึงไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียนอยู่ 1 ปี จากนั้นจึงมีโอกาสสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนการชลประทาน”
โรงเรียนการชลประทาน คืออะไร
“จำได้ว่าตอนที่ไปฟังผลสอบที่โรงเรียนการชลประทาน ได้สำรองลำดับที่ 52 โดยที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชลประทานเลย ได้แต่ถามอาจารย์ว่า
‘อาจารย์ครับ ผมจะได้เรียนไหม’ อาจารย์ตอบแค่ว่าวันมอบตัวต้องมาด้วยตนเองซึ่งขณะนั้นผมมีมุมคิดเดียว ขอแค่ที่เรียนฟรี มีหอพัก จบแล้วมีงานทำ ไม่เป็นภาระของพ่อแม่
‘เท่านี้พอแล้ว’ ปรากฏว่าวันนั้นมีคนสละสิทธิ์ ผมเลยได้เข้ามาเรียนเป็นนักเรียนชลประทาน รุ่น 36 แบบมึน งง เล็กน้อย” ชัยประเสริฐเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศในตอนนั้น
ชัยประเสริฐ บอกอย่างอารมณ์ดีว่า นักเรียนชลประทานทุกคนจะมีฉายาประจำตัว สำหรับตนมีฉายาประจำตัวก็คือ
“บูด” ซึ่งที่มาของฉายานี้ถ้าเห็นใบหน้าก็พอจะเดาได้ คือค่อนข้างจะบูดบึ้ง ก็เลยไม่แปลกใจที่รุ่นพี่มอบฉายานี้ให้
คนหัวไม่ดี มีปริญญา 4 ใบ
อย่างที่ยอมรับว่าตนนั้นไม่ใช่เด็กหัวดี จบจากโรงเรียนการชลประทาน เกรดไม่ถึง 2.5 เสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชัยประเสริฐไม่สามารถที่จะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เหมือนอย่างนักเรียนชลประทานคนอื่นๆ
“เลยต้องปรับความคิดเป็นว่า” หากคิดจะเรียน เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ขอเพียงแต่มีความมุ่งมั่น
โดยเมื่อตั้งหลักได้ เขาจึงเลือกเข้าศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทเวศร์ หลักสูตรครุศาสตร อุตสาหกรรมบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (คอ.บ.) แต่พอศึกษาไปได้ 1 ปี มีระเบียบออกมาว่าผู้ที่เรียนหลักสูตร คอ.บ.เป็นวิศวกรไม่ได้
“แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว” จะหยุดเรียนก็เสียดายเวลา ชัยประเสริฐ จึงแก้ไขปัญหาของตนเองด้วยการลงเรียนวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (วศ.บ) หลังจากจบ คอ.บ.
ภายหลังจากศึกษาจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ) ชัยประเสริฐซึ่งสนใจด้านกฎหมายจึงได้ศึกษาต่อนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บธ.ม) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อเสริมทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจ คว้าปริญญามาให้กับตนเองถึง 4 ใบ และได้รับใบประกอบวิชาชีพประเภทวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของประเภทใบประกอบวิชาชีพ ตรงกับประโยคที่กล่าวไปข้างต้น คือ แค่ปรับมุมคิดชีวิตก็เปลี่ยน
ข้าราชการกรมชลประทาน 9 โครงการ
เมื่อเปลี่ยนความคิดแล้วย่อมต้องดีขึ้น ชัยประเสริฐเล่าถึงบทบาทการทำงานให้ฟังว่า กว่าจะเป็นผู้อำนวยการ
โครงการชลประทานลำปางเช่นปัจจุบัน เขามีประสบการณ์ผ่านงานมาแล้วถึง 9 แห่ง เริ่มตั้งแต่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัด จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่สำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โครงการปฏิบัติการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม
ที่ 1 (โครงการปฏิบัติการคันคูนํ้าที่ 1) จังหวัดเชียงใหม่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง โครงการชลประทานน่าน จังหวัดน่าน ตามลำดับและบทบาทการทำงานล่าสุด คือ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำปาง
ผลงานแห่งความภาคภูมิใจ
การทำงานเกี่ยวกับ
“น้ำ” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นสิ่งที่ภูมิใจ และได้สนอง
พระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงเป็นต้นแบบแห่งความอุตสาหะ โดยมิย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อยโดยชัยประเสริฐได้นำรูปแบบการสร้างฝายชะลอน้ำ (Check Dam) เพื่อเสริมสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าของพระองค์ท่าน มาเผยแพร่กับประชาชน ตลอดจนเกษตรกรนำไปปฏิบัติ
บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
เมื่อโฟกัสให้ลึกลงไปถึงบทบาทหน้าที่ของผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำปาง ชัยประเสริฐ บอกว่า ชลประทานจังหวัดจะเป็นผู้แทนของกรมชลประทานในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด สิ่งสำคัญ ณ เวลานี้คือชลประทานจังหวัดจะต้องบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ในระดับจังหวัด ไม่ว่าจะน้ำแล้ง น้ำท่วมฝนมาก ฝนน้อย จะต้องติดตามสถานการณ์ เพื่อป้องกันและบรรเทาภัย มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น และเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
จากคนที่ไม่รู้ว่างานชลประทานคืออะไร จนมาถึงตำแหน่งปัจจุบันในบทบาทของผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำปาง ชัยประเสริฐใช้หลักอิทธิบาท 4 (ฉันทะวิริยะ จิตตะ วิมังสา) มาเป็นหลักในการทำงาน โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า
“สไตล์การทำงานของผมคือ มีใจรักในสิ่งที่ทำมีความขยันหมั่นเพียร มีความเอาใจใส่รับผิดชอบงานและรู้จักพินิจพิเคราะห์ ตรวจสอบงานเพื่อให้งานประสบผลสัมฤทธิ์ มุ่งมั่นทำงานออกมาให้เต็มที่ คิดเสมอว่าเงินเดือนที่ได้รับนั้นมาจากภาษีของประชาชน ความมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อประชาชนคือสีสันที่แต่งแต้มชีวิตให้สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมมาเหนือประโยชน์ส่วนตัว”
จวบจนวันนี้ที่กรมชลประทานเติบโตมาถึง 115 ปี ชัยประเสริฐจักยังคงเดินหน้าสานต่องานกรมชลประทาน เพื่อส่วนรวม ทำให้ดีเหมือนที่บรรพบุรุษชลประทานได้ตั้งใจทำไว้ ซึ่งเชื่อว่าถ้าหากทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง ทำงานอย่างมีเป้าหมาย ทำงานให้เสร็จเรียบร้อย ไม่คั่งค้าง และตั้งใจทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ผลที่ได้ก็จะเกิดต่อส่วนรวม เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ให้ได้มีน้ำกินใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างเพียงพอและยั่งยืน