นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการจ้างงานครึ่งปีหลังภาพรวมจะปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกที่อัตราการว่างงานสูงขึ้นเนื่องจากครึ่งปีหลังแนวโน้มการส่งออกที่มีทิศทางจะเติบโตตลอดปีได้ไม่น้อยกว่า5-6% เช่นเดียวกับการเติบโตของการท่องเที่ยวจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะรักษาอัตราการจ้างแรงงานไว้หรือการจ้างเพิ่มขึ้นได้
การจ้างเพิ่มขึ้นก็คงมีบ้างแต่คงไม่ได้มากนักเพราะภาคการผลิตเพื่อการส่งออกแม้จะเติบโตแต่อัตรากำลังการผลิตก็ขยับขึ้นมาอยู่ในระดับกว่า 61% ซึ่งยังเป็นอัตรากำลังผลิตที่ยังคงเหลืออยู่ทำให้การจะจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากมายเช่นอดีต รวมไปถึงค่าล่วงเวลา (โอที) ที่จะมีก็คงจะยังไม่ง่ายนัก
ทั้งนี้จากตัวเลข สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในเดือนก.ค.มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 4.76 แสนคนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.60) 1.2% การว่างงานอยู่ที่ 4.63 แสนคนบ่งชี้ว่ามีการว่างงานเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงก.ค.59 ก็พบว่าการว่างงานเพิ่มขึ้น 8.5 หมื่นคนหรือเพิ่มขึ้น 21.74% และในจำนวนการว่างงานดังกล่าวพบว่าเป็นผู้ที่เคยมีงานทำแล้วออกจากงานประมาณ 1.84 แสนคนคิดเป็นประมาณ 38.6% ของการว่างงานทั้งหมด
พบว่าในจำนวนคนตกงาน1.84 แสนคนนั้นเป็นการว่างงานในภาคบริการประมาณ 50% และภาคการผลิต 40% ส่วนที่เหลือเป็นภาคการเกษตร โดยเข้าใจว่าเกิดจากการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงต้นปีนี้ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดกิจการลงในส่วนของขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งการจ้างงานในภาคส่งออกครึ่งปีหลังก็น่าจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง ส่วนภาคการผลิตที่เน้นในประเทศอาจจะยังไม่ดีนักเพราะแรงซื้อคนไทยยังคงซึมอยู่ คงต้องลุ้นภาคเกษตรปลายปีนี้เป็นแรงหนุนดังนั้นการจ้างงานอาจไม่โตนักแต่อย่างน้อยก็จะไม่ลดลง