ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อของประเทศก็ไม่ได้มีการปรับตัวสูงมากจนกดดันให้ต้องปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งกลับจะเป็นการซ้ำเติมกำลังซื้อ ของผู้บริโภคในระดับฐานรากมากกว่า ตอนนี้เศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว การส่งออกก็เพิ่งฟื้น และยังไม่แน่นอนว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นแล้วจริงๆ ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า หากมีการปรับขึ้นจริง เพิ่มจากปัจจุบัน 20 บาท/วัน น่าจะเป็นระดับที่ภาคเอกชนยังพอทนรับได้
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า อัตราค่าแรงที่เรียกร้องให้ปรับขึ้นมาจากผลสำรวจของแรงงานไทยทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นคน และคาดว่าผลสำรวจจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น โดยค่าแรงที่สามารถให้แรงงานอยู่ได้และเลี้ยงครอบครัวได้ในอัตรา 1 คนต่อการเลี้ยงดูครอบครัว 3 คน จะอยู่ที่วันละ 560 บาท ซึ่งคำนวณจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน
นายชาลี กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องออกมาเรียกร้องในช่วงนี้ เป็นเพราะกระทรวงแรงงานเร่งให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดรีบส่งผลสำรวจในพื้นที่เข้ามายังส่วนกลาง ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยไม่เห็นด้วย เพราะมี ความต้องการให้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ หากแต่ละจังหวัดส่งเข้ามาตัวเลขค่าแรงไม่มีทางที่จะเท่ากันได้
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ควรปรับขึ้นค่าแรงเนื่องจากไม่ได้ปรับมานานแล้ว แต่ไม่ควรปรับเท่ากัน ทั่วประเทศ ส่วนตัวคาดว่าน่าจะขึ้นประมาณ 315-330 บาท/วัน น่าจะช่วยประคับประคองการบริโภคได้