คุณปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในนามประธานสมาคมธนาคารไทย เเผยว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560 ลงนามโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยประกาศธปท. 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศเรื่อง “แนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ” และประกาศเรื่อง “รายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ” ประจำปี 2560 ซึ่งประกอบด้วย 1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ 5. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
สมาคมธนาคารไทย มองว่าประกาศ ธปท. เรื่อง “แนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ” (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) และเรื่อง “รายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ” ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งถูกกำหนดให้เป็น D-SIBs นั้น เป็นไปตามมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ Basel III ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงของวิกฤตในอนาคต หลังจากที่ประเทศต่างๆ ได้ผ่านพ้นวิกฤตซับไพร์มมาแล้ว
สำหรับประเทศไทย ประกาศของ ธปท. เกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่เป็น D-SIBsดังกล่าว จึงเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตตามมาตรฐานสากล Basel IIIอันเป็นการช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้ระบบการเงินของไทย ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 5 แห่งที่ธปท. กำหนดให้เป็น “ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ” มีอัตราส่วนเงินกองทุนฯ ที่สูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดทั้งในปัจจุบัน และที่ต้องดำรงในปี 2563
ในขณะเดียวกัน ภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยในปัจจุบัน มีความแข็งแกร่งตามมาตรฐานสากล โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ ณ สิ้นไตรมาส 2/2560 อยู่ที่ 17.9 เปอร์เซ็นต์ และ 15.2 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท. กำหนดเช่นเดียวกัน