โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

พระราชดำริ ร.๙ "ควายเหล็ก” เครื่องจักรกลทุ่นแรงเกษตรกรไทย

"ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากอยู่มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงทราบดีว่าการทำไร่ทำนานั้นมีความยากลำบากและเป็นงานหนักที่ต้องใช้แรงงานมาก เกษตรกรจะต้องไถ เตรียมดิน ปลูก ดูแลรักษาพืช เก็บเกี่ยวและนวด ขนย้ายผลิตผล งานต่างๆ ที่ชาวไร่ชาวนาทำ จะต้องทำให้ดี ทันต่อระยะเวลาและฤดูกาล พระองค์ทอดพระเนตรการณ์ไกลถึงความจำเป็นที่เกษตรกรจะต้องมีเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมมาใช้งาน ดังนั้นจึงได้ทรงพระราชดำริกับหม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล หัวหน้ากองเกษตรวิศวกรรม กรมการข้าว ในสมัยเมื่อ ๕๐ ปีก่อน ทำงานวิจัยพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรให้เหมาะสมต่อการผลิตและการใช้งานในประเทศไทย
เป็นที่มาของ "ควายเหล็ก” โดยเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระราชดำริให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรการเกษตร ประดิษฐ์รถไถสี่ล้อ เครื่องยนต์ดีเซล ๘.๕ แรงม้า เพื่อใช้เตรียมดินปลูกข้าวในแปลงนาทดลองบริเวณโครงการส่วนพระองค์ ในสวนจิตรลดา และทรงขับควายเหล็กไถนาเพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าว ทรงหว่านข้าวลงในแปลงนาเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๔ ต่อมา ๓ เดือน ข้าวตั้งท้องออกรวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิธีทำขวัญแม่โพสพ ณ แปลงนาทดลอง ตามขนมธรรมเนียมประเพณีโบราณ จากนั้นทรงเกี่ยวข้าวเพื่อใช้เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทานในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเล็งเห็นว่าในช่วงเวลานั้นเกษตรกรไทยจำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องจักรกลเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต และปรับตัวให้ทันกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของโลก จึงมีพระราชดำริให้สร้างรถไถขึ้นเพื่อเป็นแบบอย่าง ให้เห็นว่าคนไทยสามารถสร้างเครื่องจักรกลทางการเกษตรใช้ได้เอง ซึ่งเครื่องจักรกลเกษตรประเภทต่างๆ ที่ได้มีการวิจัยพัฒนาในสมัยนั้น เช่น ควายเหล็ก ท่อสูบน้ำเทพฤทธิ์ เครื่องนวดข้าว และเครื่องสีข้าวแบบแรงเหวี่ยง ได้รับพระราชทานพระราชวินิจฉัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นแนวทางการปรับปรุงเครื่องจักรกลเกษตรเหล่านั้นให้ใช้งานได้ดี เป็นผลให้ปัจจุบันมีการผลิตโดยโรงงานเอกชนในประเทศ สามารถผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรได้ในราคาไม่แพงนัก และเกษตรกรได้ใช้งานเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทยต่อมากิจการเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศเจริญก้าวหน้าขึ้น ประเทศไทยมีโรงงานผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรในปัจจุบันรวม ๓๐ แห่ง สามารถผลิตรถไถ และรถไถเดินตามประเภทสองล้อ ประมาณปีละ ๗๐๐ คัน เมื่อเทียบกับประเทศที่มีกำลังการผลิตสูง เช่น ประเทศในทวีปยุโรป จีน เกาหลี และญี่ปุ่นแล้ว ประเทศไทยสามารถผลิตรถไถสองล้อในนามไทยแทรกเตอร์ได้ทัดเทียมประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ของโลกซึ่งจากแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงมีพระราชดำริไว้ ปัจจุบันได้มีการดำเนินการพัฒนาและผลิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้มีการผลิตและการใช้งานเครื่องจักรกลเกษตรอย่างแพร่หลายในประเทศไทย สร้างความสะดวกสบายให้เกษตรกรไทย อีกทั้งมีส่วนช่วยในการเพิ่มผลผลิต ตลอดจนส่งเสริมการทำงานให้เกิดผลได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ข้อมูลจาก : ธนาคารกรุงเทพ (ใส่ลิ้งค์) http://www.bangkokbanksme.com/article/9479ข้อมูลจาก : หนังสือสารานุกรมพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรอบ 60 ปีแห่งการครองราชย์, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 22