ดังนั้นจึงต้องชะลอปล่อยกู้กลุ่มนี้ไว้ชั่วคราว จนกว่าคุณภาพหนี้จะเริ่มกลับมาดีขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้สัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในปี 2561 นี้ลดลงต่อเนื่อง จากสิ้นปี 2560 ที่มีสัดส่วนอยู่ราว 13% ของสินเชื่อรวมของธนาคารที่อยู่ที่ราว 1.6 แสนล้านบาท
“อดีตเมื่อ 2-3 ปีก่อน เราเคยมีพอร์ตเอสเอ็มอีสูงถึง 27% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด แต่สิ้นปี 2560 ตกมาเหลือ 13% ปีนี้ก็น่าจะลดลงต่อเนื่อง เพราะเราเลิกปล่อยกลุ่มนี้ไปก่อนแล้วก็เข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้กับกลุ่มที่ไหลไปเป็นเอ็นพีแอลแล้ว โดยตอนนี้สินเชื่อปล่อยใหม่กลุ่มเอสเอ็มอีจะไม่มีเลย และเราก็ไม่รับลูกค้ารีไฟแนนซ์กลุ่มนี้ด้วย เพราะเรากลัวว่าจะเกิดการย้อมแมวขาย อาจจะดีที่อื่น แต่มาเสียที่เรา”
ด้าน นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน NPL เอสเอ็มอีจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จากที่เคยสูงถึง 4.6% ในปี 2560 แต่เอสเอ็มอีก็ยังเป็นกลุ่มที่เปราะบาง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มียอดขายต่ำกว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อีกทั้งเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ยังไม่ได้ส่งอานิสงส์ไปสู่กลุ่มเอสเอ็มอีเท่าใดนัก
“ปีนี้เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีทั้งระบบน่าจะดีขึ้นมาอยู่ที่ 4.3% แม้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่จะเห็นได้ว่าไม่ใช่การฟื้นตัวที่ดี เอสเอ็มอียังมีความเปราะบางอยู่มากในปีนี้ โดยกลุ่มที่ต้องระมัดระวังต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง เกษตร เป็นต้น เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรลดลง จากคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นและมีความอ่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมาก”
นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ไม่อยากให้มองว่า ภาพเอสเอ็มอีโดยรวมแย่ไปทั้งหมด เนื่องจากยังมีเอสเอ็มอีหลายกลุ่มที่ยังเติบโตได้ดี โดยกลุ่มที่มียอดขายต่ำกว่า 100 ล้านบาท คุณภาพหนี้ก็ไม่ได้แย่ทุกราย ซึ่งบางกลุ่มก็ยังมีศักยภาพและการเติบโตที่ดีอยู่ ดังนั้นการที่บางแบงก์เพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กมากขึ้น จึงขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของธนาคาร เพราะแต่ละธนาคารมีการบริหารความเสี่ยง หรือความชำนาญในการบริหารคุณภาพหนี้แต่ละกลุ่มแตกต่างกัน