ตอนนี้จังหวัดที่มีสินค้าจีไอแล้ว 59 จังหวัด อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอ 15 จังหวัด 23 สินค้า และจังหวัดที่ยังไม่มียื่นคำขอจีไออีก 3 จังหวัด ประกอบด้วย สระแก้ว ซึ่งมีสินค้าเด่น ๆ คือ แคนตาลูป มะม่วงน้ำดอกไม้ ผ้าไหมหันทราย และชมพู่คลองหาด, จังหวัดกระบี่ มีกาแฟกระบี่ หอยชักตีน กะปิแหลมสัก และ จังหวัดสตูล มีจำปาดะสตูล ข้าวอัลฮัม ซึ่งกรมฯ จะเร่งส่งเสริมให้มีการยื่นคำขอต่อไป
สำหรับสินค้าจีไอ 3 รายการล่าสุดที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ได้แก่ ส้มบางมด เป็นส้มพันธุ์เขียวหวาน ผลทรงกลมมน หรือแป้นเล็กน้อย ผิวส้มมีรอยแตกเป็นเส้นลาย เปลือกบาง ชานนิ่ม ปอกง่าย กลีบแยกออกจากกันง่าย ผนังกลีบบาง รสชาติหวานอมเปรี้ยว ซึ่งปลูกในพื้นที่ 8 เขต ของกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตจอมทอง เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน เขตภาษีเจริญ เขตบางแค และเขตหนองแขม
ส่วนลิ้นจี่บางขุนเทียน เป็นลิ้นจี่พันธุ์กะโหลกใบยาว พันธุ์กะโหลกใบอ้อ และพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีลักษณะผลขนาดกลางรูปคล้ายหัวใจ หนามแหลมสั้น เปลือกสีแดงถึงแดงคล้ำ รสชาติหวาน หอม เนื้อไม่แฉะ ไม่มีรสฝาด เจือ ซึ่งปลูกในพื้นที่เขตจอมทองและเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร
ขณะที่ ละมุดบ้านใหม่ เป็นละมุดพันธุ์มะกอกที่มีทรงผลกลมรี ลูกเล็กคล้ายผลมะกอก ผิวเปลือกบาง สีน้ำตาลเข้ม เนื้อแน่นละเอียด กรอบ รสชาติหวาน และมีกลิ่นหอม ซึ่งปลูกในพื้นที่ ตำบลบ้านใหม่ ตำบลท่าตอ และตำบลบ้านขวาง อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การผลักดันสินค้าชุมชนให้ขึ้นทะเบียนจีไอ จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนจีไอ เพื่อคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิเฉพาะของชุมชน รวมทั้งเป็นการรักษามาตรฐานของสินค้าด้วย