โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

เปิดแล้ว ตลาดเคหะประชารัฐ ชวนเดินเพลินใจเทพประสิทธิ์ (พัทยา) จ.ชลบุรี

พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดตลาดเคหะประชารัฐชวนเดินเพลินใจพัทยา (เทพประสิทธิ์) พร้อมมอบป้ายตลาดเคหะประชารัฐให้กับ ธัชพงษ์ คติวานิช รักษาการกรรมการผู้จัดการบริษัทเมืองพัฒนา จำกัด

โดยมี วิสิษฎ์ พวงเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และ ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานดังกล่าว ณ บริเวณตลาดเคหะประชารัฐชวนเดินเพลินใจเทพประสิทธิ์ (พัทยา) ถนนเทพประสิทธิ์ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงความเป็นมาโครงการตลาดเคหะประชารัฐของการเคหะแห่งชาติว่า เป็นการดำเนินนโยบายภายใต้โครงการตลาดประชารัฐของรัฐบาลที่ต้องการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนและภาคีเครือข่าย พร้อมการพัฒนาเชิงบูรณาการ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ผ่านมิติของคน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากไทยแลนด์ 4.0 มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

รวมทั้งสนองตอบวิสัยทัศน์ในกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี ของรัฐบาล ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เห็นชอบให้การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมโครงการตลาดประชารัฐร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และเครือข่าย 18 หน่วยงาน จัดเป็นตลาดประเภทที่ 10 ภายใต้ชื่อโครงการ “ตลาดเคหะประชารัฐ” โดยยกระดับ การพัฒนาตลาดชุมชนของการเคหะแห่งชาติสู่ตลาดเคหะประชารัฐกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค 93 ตลาด รวม 9,900 แผงร้านค้า ซึ่งขับเคลื่อนร่วมกับภาคีต่างๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ สถาบันการเงินผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ชุมชนใกล้เคียง และประชาชนทั่วไป

ในปี 2561 ที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้กำหนดประเภทโครงการตลาดเคหะประชารัฐออกเป็น3 ประเภท ได้แก่ ตลาดเคหะประชารัฐชวนเดินเพลินใจ เป็นตลาดนัดชุมชนที่พัฒนาตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยในชุมชน รูปแบบแผงร้านค้าเป็นลักษณะชั่วคราว เคลื่อนย้ายสะดวก จัดให้มีขึ้นเฉพาะในพื้นที่และวันที่กำหนดเท่านั้น มีโครงการนำร่องคือ ตลาดบวรร่มเกล้า ตลาดเคหะประชารัฐชุมชนสุขใจ เป็นตลาดสดชุมชน จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค และบริการ มีอาคารโรงเรือนถาวรอยู่ในพื้นที่ที่การเคหะแห่งชาติจัดไว้ให้เปิดขายเป็นประจำทุกวัน

จัดทำโครงการนำร่อง คือ ตลาดนนทบุรี (วัดกู้ 2) ตลาดพหลโยธิน กม.44 และ ตลาดเคหะประชารัฐพลาซ่า (Mini Mall) เป็นตลาดที่มีอาคารโรงเรือนถาวร จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการในรูปแบบศูนย์การค้า ทั้งการค้าปลีก ค้าส่ง ออนไลน์ สินค้าแฟชั่น โดยมีตลาดเยส บางพลี เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งตลาดทั้ง 3 ประเภทมีคุณสมบัติสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตลาดมาตรฐานที่ กระทรวงมหาดไทยกำหนด 6 ด้าน คือ

1.ด้านสุขลักษณะทั่วไป 2.ด้านการจัดการน้ำเสีย 3.ด้านการจัดการขยะมูลฝอย 4.ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม 5.ด้านผู้จำหน่ายสินค้า 6.ด้านการมีส่วนร่วมของผู้ค้าและผู้ซื้อ ส่วนการดำเนินงานในปี 2562 การเคหะแห่งชาติมีแผนจะขยายผลเพิ่มเติมอีก 4 ตลาด คือ ตลาดเคหะประชารัฐชุมชนสุขใจ (เกรียงไกร - ร่มเกล้า) กรุงเทพฯ ตลาดเคหะประชารัฐชวนเดินเพลินใจเทพประสิทธิ์ (พัทยา) ชลบุรี

ตลาดเคหะประชารัฐชวนเดินเพลินใจ(โคราช) นครราชสีมา และตลาดเคหะประชารัฐ(ชุมชนสุขใจ) บ้านเอื้ออาทรหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ สำหรับตลาดเคหะประชารัฐชวนเดินเพลินใจเทพประสิทธิ์ (พัทยา) หรือตลาดเคหะเซ็นเตอร์ ตั้งอยู่บริเวณ ถ.เทพประสิทธิ์ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีพื้นที่ตลาด 6 - 3 - 13 ไร่ พื้นที่จอดรถ 7 - 3 - 42 ไร่ แผงร้านค้า 750 - 800 แผง ประกอบด้วย ร้านอาหาร 150 - 200 ร้าน และร้านค้าทั่วไป 500 - 600 ร้าน โดยบริษัท เมืองพัฒนา จำกัด ได้เช่าพื้นที่จัดประโยชน์ของการเคหะแห่งชาติดำเนินการจัดตั้งตลาดเคหะเซ็นเตอร์

ทั้งนี้ จุดแข็งของตลาดคือ การนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการควบคุมการรับชำระค่าเช่าพื้นที่ขายสินค้า ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้คิดค้นและพัฒนาโปรแกรมขึ้นเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อใช้ควบคุมดูแลกิจการ รวมถึงใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในการประชาสัมพันธ์ลงสื่อต่างๆ ในเมืองพัทยาและจ.ชลบุรี เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังมีจุดบริการแลกเปลี่ยนเงินตรา

สามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสลับหมุนเวียนกันมาจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าอย่างไม่ขาดสาย การเคหะแห่งชาติ เล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดดังกล่าว จึงได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทเมืองพัฒนา จำกัด ต่อยอดเป็น “ตลาดเคหะประชารัฐชวนเดินเพลินใจเทพประสิทธิ์ (พัทยา)” พร้อมมอบป้ายตลาดอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและแหล่งรวมสินค้าในชีวิตประจำวัน จำหน่ายในราคาย่อมเยา ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย