โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ธุรกิจลำไย ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน ภาครัฐแนะเกษตรกรเน้นผลิตลำไยคุณภาพ

นางอัญชนา  ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ผลการศึกษาผลกระทบจากการทำธุรกิจของผู้ประกอบการที่มีต่อลำไยไทย ปี 2561 เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการดำเนินงาน รูปแบบการบริหารจัดการของผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุลำไยสด และลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ตลอดจนวิเคราะห์ส่วนเหลื่อมการตลาด และสัดส่วนของกำไร ซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในธุรกิจการส่งออกลำไยของไทย


ผลการศึกษา พบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) รับซื้อลำไยเพื่อการส่งออก ในแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และจันทบุรี ประมาณ 212 ราย (ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP) แบ่งเป็นโรงคัดบรรจุลำไยสด 129 ราย และโรงงานแปรรูปลำไยอบแห้งทั้งเปลือก 83 ราย ซึ่งมีการดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุที่เป็นของคนไทย 2) โรงคัดบรรจุที่คนไทยถือหุ้นร่วมกับต่างชาติ และ 3) โรงคัดบรรจุที่เป็นของต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบการถือหุ้นร่วมกัน

ผลการวิเคราะห์ส่วนเหลื่อมการตลาดของการส่งออกลำไยสด พบว่า ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุภาคตะวันออก มีส่วนเหลื่อมการตลาดกิโลกรัมละ 44.17 บาท แบ่งเป็นต้นทุนการตลาดกิโลกรัมละ 25.54 บาท และกำไร กิโลกรัมละ 18.63 บาท สำหรับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุภาคเหนือ มีส่วนเหลื่อมการตลาดกิโลกรัมละ 45.07 บาท แบ่งเป็น ต้นทุนการตลาดกิโลกรัมละ 26.57 บาท และกำไรกิโลกรัมละ 18.50 บาท  ส่วนผู้ประกอบการแปรรูปลำไยอบแห้งทั้งเปลือกภาคเหนือ พบว่า มีส่วนเหลื่อมการตลาด กิโลกรัมละ 105.78 บาท แบ่งเป็น ต้นทุนการตลาด กิโลกรัมละ 29.28 บาท และกำไร กิโลกรัมละ 76.50 บาท

 

หากมองถึงภาพรวมผลกำไรของการส่งออกลำไย ในปี 2560 พบว่า ธุรกิจส่งออกลำไยสดและลำไยอบแห้งทั้งเปลือกมีกำไรทั้งสิ้น 16,964 ล้านบาท (แบ่งเป็นลำไยสดภาคตะวันออก กำไร 8,871 ล้านบาท ลำไยสดภาคเหนือ กำไร 2,402 ล้านบาท และส่งออกลำไยอบแห้งทั้งเปลือกภาคเหนือ กำไร 5,691 ล้านบาท) โดยคิดเป็นร้อยละ 52 ของมูลค่าการส่งออกลำไยสดและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด

เมื่อพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งตามสัดส่วนทุนในการประกอบธุรกิจส่งออกลำไยของผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการต่างชาติ พบว่า ปัจจุบันสัดส่วนทุนโดยส่วนใหญ่เป็นของชาวต่างชาติ เนื่องจากมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการประกอบธุรกิจ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยบางรายที่ขาดเงินทุนหมุนเวียน ไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวนี้ได้ จำเป็นต้องออกจากธุรกิจไป หรือปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ไปรับจ้างบรรจุ (Packing) ลำไยเพื่อการส่งออกแทน

 

ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการจ้างงาน พบว่า ส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าวประมาณร้อยละ 90 และแรงงานไทยประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากแรงงานไทยมีการเคลื่อนย้ายไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่า ทั้งนี้ ในการประกอบธุรกิจลำไย มีมูลค่าการจ้างงานทั้งสิ้น 3,793 ล้านบาท/ปี โดยแบ่งเป็นค่าจ้างแรงงานไทย 313 ล้านบาท/ปี (ร้อยละ 8 ของค่าจ้างแรงงานทั้งหมด) และค่าจ้างแรงงานต่างด้าว 3,480 ล้านบาท/ปี (ร้อยละ 92 ของค่าจ้างแรงงานทั้งหมด)

จะเห็นได้ว่าการประกอบธุรกิจลำไย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยมีสัดส่วนของกำไรในการส่งออกค่อนข้างมาก ดังนั้น เกษตรกรควรเน้นการผลิตลำไยคุณภาพ และขายลำไยเมื่อเห็นผลผลิต แทนการขายใบ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองด้านราคา และลดปัญหาการผิดสัญญากับล้ง โดยภาครัฐควรสนับสนุนให้มีการนำสัญญากลางมาใช้ (สัญญาที่ร่างขึ้นร่วมกันระหว่างเกษตรกร ล้งส่งออก สมาคมการค้า ภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมากำหนดให้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน) ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจลำไย เพื่อลดการผูกขาดของล้งต่างชาติ การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และผู้ประกอบการในการบริหารจัดการวางแผนด้านแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว เพื่อให้เกิดความสมดุลของแรงงานและให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ ควรเข้มงวดในการตรวจสอบผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจ โดยใช้กฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจผลไม้ที่เป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) กับชาวต่างชาติ และควรมีข้อกำหนดให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจผลไม้มีการนำเงินทุนของตนเองมาลงทุน เนื่องจากเงินลงทุนของชาวต่างชาติมักมาจากการกู้สถาบันการเงินของไทยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยขาดโอกาสในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน