ยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าเล็ก หรือบริษัทขนาดใหญ่ต่างก็อยู่ในโลกของเทคโลโลยีดิจิทัล ต่างก็อยู่กับผู้บริโภคยุคเจนวาย ที่คลุกคลีกับเทคโนโลยีและดิจิทัลเป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อจะขายสินค้าหรือบริการก็ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมหลักๆ ของคนในยุคนี้
1.ยุคนี้ถือได้ว่าเป็นยุคข้อมูลล้นโลกจริงๆ เพียงคุณคลิกเข้าไปใน Google คุณจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ เช่นเดียวกับลูกค้า หากเขาต้องการสินค้าสักชิ้นก็ต้องค้นหารีวิวมาอ่านเพื่อเก็บข้อมูลสินค้าที่ต้องการจะซื้อว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโลกโซเชียลอย่างไรบ้าง เป็นไปในทางบวก หรือลบ โดยเริ่มตั้งแต่ภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้า คุณภาพ การให้บริการ ยิ่งในยุคนี้มีการส่งทางไปรษณีย์ก็จะดูไปถึงความรวดเร็วในการจัดส่ง มีประกันความพึงพอใจหรือไม่ ตลอดจนความปลอดภัยและความสะดวกในการจ่ายเงิน
2.ผู้บริโภคต้องการแสวงหาประสบการณ์ของชีวิตมากขึ้น คนยุคใหม่ที่สื่อโซเชียลให้ทุกคนดูเหมือนใกล้กันเข้ามา ข้อมูลข่าวสารทะลักเข้าถึงกันอย่างรวดเร็ว ทำให้คนยุคใหม่สนใจที่จะไปแสวงหาประสบการณ์จากสิ่งที่พบเห็น จากสถาบันวิจัยตลาด Mintel คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคสำหรับการทานอาหารนอกบ้านและท่องเที่ยวจะเติบโตสูงถึง 27% ในช่วงปี 2015-2019 สะท้อนถึงการที่ผู้บริโภคให้คุณค่ากับการเสพประสบการณ์มากขึ้นและกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำ ให้สินค้าหรือบริการจำเป็นต้องสร้างความโดดเด่น โดยผู้บริโภคยอมใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อจะได้รับประสบการณ์พิเศษนั้น หรือจะเห็นได้จากหลายปีที่ผ่านมา กิจกรรมการวิ่งเดินมาราธอนได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างต่อเนื่องและล้นหลาม เพราะไม่ได้ตอบสนองเพียงแค่การออกกำลังกาย แต่ได้ตอบสนองการมีสังคมและประสบการณ์การสะสมเหรียญจากที่ต่างๆ
3.ความต้องการของลูกค้ายุคใหม่จะไม่สิ้นสุด เมื่อเขาได้รับการตอบสนองในระดับหนึ่งพึงพอใจแล้ว เขาก็มีความคาดหวังที่จะได้รับการตอบสนองใหม่ที่ดีกว่าอยู่เสมอ เป้าหมายของการซื้อสินค้าของลูกค้าคือต้องได้ประโยชน์จากการซื้อสินค้าและบริการอย่างคุ้มค่ามากที่สุด มีมาตรฐานน่าเชื่อถือ และที่สำคัญที่สุดผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการความสะดวกสบาย ต้องการบริการก่อนและหลังการขายที่ดี
4. mass products หรือสินค้าที่เหมือนๆ กันผลิตออกมาในปริมาณมากๆ เริ่มหมดความหมาย คนยุคนี้ต้องการสินค้าที่จำเพาะเจาะจงเพื่อตอบสนองบุคลิกความต้องการของตัวเองให้แจ่มชัดขึ้น (personalization) เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่มีความต้องการที่ซับซ้อนและช่างเลือกมากขึ้น เห็นได้จากสินค้าแฟชั่นที่แทบเรียกได้ว่าผลิตไม่กี่ชิ้น หรือ Limited Edition เลยก็ว่าได้ จากผลผลสำรวจของThe Economist Intelligence Unit (EIU) พบว่ากว่า 30% ของผู้บริโภค โดยเฉพาะในเอเชียมีความต้องการสินค้าที่ปรับแต่งเองได้ นอกจากนี้ ราว 50% ของผู้บริโภคยังยอมจ่ายเงินมากขึ้นอีกประมาณ 30% เพื่อให้ได้สินค้าเหล่านี้ สะท้อนถึงแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคที่ต้องการความแตกต่างและมีเอกลักษณ์มากขึ้น
5.ในโลกยุคต่อไป ผู้บริโภคต้องการคอนเทนต์การสื่อสารด้วยภาพมากกว่าคำพูด ยิ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวประเภทวิดีโอที่สะท้อนถึงคุณสมบัติ ไลฟ์สไตล์ของสินค้าได้ยิ่งดี ซึ่งแน่นอนช่องทางที่จะสื่อสารสินค้าและบริการของคุณโดยใช้คอนเทนต์เหล่านี้คือโซเชียลในรูปแบบต่างๆ โลกยุคหน้าคุณไม่สามารถประสบความสำเร็จจากการใช้โซเชียลแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่จะต้องผสมผสานกันอย่างเหมาะสมมากกว่า 1 แพลตฟอร์ม