ซุปเปอร์บอร์ดติดเบรคขึ้นค่ารถเมล์ของ ขสมก. ทีดีอาร์ไอเรียกร้องให้รัฐควบคุมราคารถไฟฟ้าให้เป็นระบบ หวั่นคนกรุงแบกค่าเดินทางถึง 33.6 % ของรายได้
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) สั่งให้ระงับการขึ้น ค่าโดยสารรถประจำทางของ ขสมก. ที่จะเริ่มปรับขึ้นในวันที่ 21 ม.ค.นี้ไว้ก่อน และให้ ขสมก.ไปหารือกับกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกอีกครั้ง
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ขสมก.ได้รายงานให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจทราบความคืบหน้าการรับมอบรถเมล์เอ็นจีวี 300 คัน และที่เหลือ 189 คัน ได้ภายในเดือน มี.ค. 2562 และจะจัดหาครบ 3,000 คัน ภายในปี 2565 มีการติดตั้งระบบจีพีเอสในรถครบถ้วนแล้ว เหลือติดตั้งระบบ E-Ticket สายต่างๆ ที่ยังล่าช้า
นายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการ ผอ.ขสมก. กล่าวว่า จะทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบกเรื่องการไม่ปรับขึ้นราคารถเมล์ต่อไป ส่วนรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ 300 คันและอีก 189 คันที่กำลังจะส่งมอบนั้นอาจใช้เกณฑ์ราคาใหม่ แต่ต้องหารือกันภายในอีกครั้ง
ด้าน นายสุเมธ องกิตติกุล ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จะเสนอผลการศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารรถไฟและรถไฟฟ้าในปัจจุบันให้กรมการขนส่งทางบกภายใน 1 เดือน และส่งต่อให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจ รายได้และกำลังการบริโภคของคน กทม. พบว่าประชากรครึ่งหนึ่งหรือราว 4-5 ล้านคน ไม่สามารถรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าใน ปัจจุบันได้ และปัญหานี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อมีการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายใหม่ จึงขอให้รัฐบาลควบคุมโครงสร้างค่าโดยสารอย่างเป็นระบบ ทั้งเส้นทางเดิมและเส้นทางใหม่ เช่นเดียวกับการคุมค่ารถเมล์ที่ผ่านมา หรืออย่างน้อยต้องไม่ปล่อยให้ค่าโดยสารลอยตัวเช่นในปัจจุบัน
“ยกตัวอย่างผู้มีรายได้ขั้นต่ำราว 10,000-15,000 บาท อาทิ เฉลี่ยค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดสายอยู่ที่ 42 บาท หากเดินทางเข้าเมืองต้องเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีกสายจะเป็น 84 บาทต่อเที่ยว หรือ 168 บาทต่อวัน คิดเป็น 3,360 บาทต่อเดือน กรณีมีวันทำงาน 20 วันต่อเดือน เฉพาะแค่ค่ารถไฟฟ้าคิดเป็น 33.6% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเกินไป” นายสุเมธ กล่าว