สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (APi) ร่วมกับเหล่าพันธมิตร จัดทำหลักสูตรหวังปั้นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพกลุ่มความงามโดยหนุนใช้สมุนไพรไทยไปต่อยอดการทำธุรกิจ เนื่องจากมองเห็นแนวโน้มความต้องการของตลาดทั่วโลก
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (APi) ได้ร่วมมือกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และบริษัท ควอลิตีพลัสเอสเททิคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดทำหลักสูตร Thailand Entrepreneur in Bio Cosmetics (TEBC) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มความงามเลือดใหม่ สู่การเป็น Startup นวัตกรรมสมุนไพร ที่สามารถนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการแปรรูปเครื่องสำอางจากสินค้าเกษตร และงานวิจัยเชิงลึกไปใช้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว เป็นหลักสูตรที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกให้แก่ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรมกลุ่มเครื่องสำอางสมุนไพร โดยเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายและพัฒนาผู้ประกอบการด้านธุรกิจเครื่องสำอาง ให้สามารถนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการแปรรูปเครื่องสำอางจากสินค้าเกษตร และงานวิจัยเชิงลึกไปใช้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางด้วยนวัตกรรมสารสกัดขั้นสูง ตลอดจนช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้
นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ จะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตลอดจนศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และโอกาสในการดำเนินธุรกิจเครื่องสำอางในประเทศจีนหรือประเทศเวียดนาม และนำเสนอผลงานในรูปแบบการ Pitching ต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในด้านการวิจัย การผลิต การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์และการตลาด
นายอดุลย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไทยส่งออกสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าจากผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางที่ใช้สมุนไพรเป็นส่วนผสมกว่า 90,000 ล้านบาท สอดคล้องกับทิศทางตลาดสินค้ากลุ่มสมุนไพรโลกที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยประเทศที่มีมูลค่าทางการตลาดของสมุนไพรสูง ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส มีตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวที่มากที่สุด โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 9.1% ต่อปี ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพสูงที่สุดในตลาดสมุนไพร ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและกลุ่มผลิตภัณฑ์เวชสำอาง
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าแนวโน้มตลาดสมุนไพรโลกยังคงสดใสในอีกระยะยาว เนื่องจากความตระหนักรู้ถึงอันตรายและผลข้างเคียงของผลิตภัณฑ์กลุ่มเคมีสังเคราะห์ และภูมิประชากรโลกที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวในไม่ช้า ซึ่งจะทำให้เทรนด์ Organic and Natural และ Aging Society กลายเป็นเทรนด์หลักของตลาดสินค้าทั่วโลก ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้ามและควรใช้ข้อได้เปรียบด้านความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลทางการเกษตรและสมุนไพรพื้นบ้าน ตลอดจนภูมิปัญญาและตำรับยาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณที่เมื่อนำมาผนวกรวมกับนวัตกรรม งานวิจัย องค์ความรู้ และกรรมวิธีการผลิตสมัยใหม่ ย่อมสร้างเอกลักษณ์และจุดแข็งให้สินค้ากลุ่ม เครี่องสำอางไทยกลายเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกได้