โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ผอ.ออมสิน กับ 4 ปีที่บริหารงาน กับความสำเร็จรอบด้าน

นับเป็นความสำเร็จอย่างมากกับ 4 ปีที่ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน รับบทบาทหน้าที่ในการเป็นหัวเรือใหญ่ในการบริหารจนทำให้ธนาคารออมสินมีกำไรเติบโตมากขึ้นทุกปี ล่าสุดกับผลการดำเนินงานปี 2561 ที่สามารถสร้างยอดสินเชื่อ 2.11 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.85 เงินรับฝาก 2.30 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.87 ด้านสินทรัพย์ขยายเพิ่มเป็น 2.71 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.75 โดยมีกำไรสุทธิ 36,310 ล้านบาท

จากการให้สินเชื่อที่มีคุณภาพพร้อมควบคุมและบริหารจัดการหนี้ที่มีประสิทธิภาพเป็นตัวผลักดัน ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัวต่อเนื่อง ผอ.ออมสิน เผย ผลประกอบการเกินคาดหมาย ธุรกิจธนาคารรวมทั้งโครงการ/มาตรการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ สอดประสานไปในทิศทางที่ดี อีกทั้งยังคุม NPLs อยู่แค่เพียงร้อยละ 2.15 ต่ำสุดในระบบธนาคาร

ทั้งนี้ กำไรสุทธิ 36,310 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิกว่า 64,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับมีรายได้มิใช่ดอกเบี้ย กว่า 18,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 7,900 ล้านบาท โดยเฉพาะกำไรจากการขายเงินลงทุน (IRPC) และรายได้ค่าธรรมเนียมจากบริการเงินกู้ ธุรกิจบัตรและอิเล็กทรอนิกส์ และรายได้ค่านายหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการใช้บริการของลูกค้า พร้อมทั้งมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่จูงใจ

“ในช่วงเวลา 4 ปี (ปี 2558-2561) ได้วางเป้าหมายให้ธนาคารออมสินเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 ธนาคารฯ มีสินทรัพย์รวม 2,710,350 ล้านบาท ภายใต้การบริหารตามกรอบทิศทางที่กำหนดไว้ มีสินเชื่อรวม 2,111,899 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 97,776 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.85 มีเงินรับฝากฯ 2,298,412 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารไทย โดยเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 จำนวน 42,100 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.87 ด้วยผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้ออมเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ สลากออมสินพิเศษ 3 ปี สลากออมสินพิเศษ 5 ปี ที่มีผลตอบแทนและรางวัลพิเศษที่น่าสนใจ รวมถึงมีช่องทางการให้บริการดิจิทัล อาทิ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ Mobile Application หรือ “MyMo” ซึ่งให้ความคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีสัดส่วน Electronic Transaction กว่าร้อยละ 74 ของ Transaction รวม”

ทั้งนี้ ในปีเดียวกัน ธนาคารฯ ยังให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรัดกุม และเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ มีการแก้ไขหนี้ตามลำดับความสำคัญและอายุหนี้ การเจรจาไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ มีการเปิดศูนย์ย่อยควบคุมและบริหารหนี้จำนวน 80 ศูนย์ทั่วประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับดี

โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพียงร้อยละ 2.15 ของสินเชื่อรวม ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ และมีความมั่นคงทางการเงินจากระดับเงินกองทุนที่สูงกว่า 180,000 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 14.8 ขณะที่ ธนาคารฯ ได้นำส่งรายได้แผ่นดินในปี 2561 สูงถึง 20,054 ล้านบาท เป็นอันดับ 4 ของรัฐวิสาหกิจ และเป็นอันดับ 1 ของสถาบันการเงินของรัฐ อีกด้วย

“ภายใต้เป้าหมาย GSB The Best & Biggest Local Bank in Thailand สามารถผลักดันให้ธนาคารมีการขยายตัวได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ เกินความคาดหมาย โดยปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้ายังมีต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารออมสินสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้เงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าและจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ทำให้ภาพรวมของลูกค้าในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 22 จากปี 2557

โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าเป้าหมายกลุ่มวัยเด็กที่จะเข้าสู่วัยนักศึกษา (อายุ 18-22 ปี) เพิ่มถึงร้อยละ 41 ส่วนวัยเริ่มทำงาน หรือ First Jobber (อายุ 23-30 ปี) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ภารกิจที่สำคัญควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ คือ ภารกิจโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหนี้นอกระบบ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และการฝึกพัฒนาอาชีพเพื่อเสริมรายได้ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบอาชีพรายย่อย ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชนและออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

ล้วนมีผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้ดัชนีคุณภาพชีวิตของลูกค้าฐานรากที่เป็นลูกค้าธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.7180 จาก 0.6285 ในปี 2559 สำหรับการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ให้ก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจที่เข้มแข็ง เติบโตและยั่งยืนส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีโครงการพิเศษร่วมกับมหาวิทยาลัยในรูปแบบ GSB Startup Academy ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นในระบบ”

จากความร่วมมือร่วมใจกันของผู้บริหารและพนักงาน ส่งผลให้ธนาคารฯ มีผลประกอบการที่ดีในปีที่ผ่านมา พร้อมกับพัฒนาการในด้านต่างๆ ทำให้ได้รับการยกย่องและได้รับมอบรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัล The Best Quality Leadership Award 2018 ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมยุโรปเพื่อการวิจัยคุณภาพ (European Society for Quality Research : ESQR), รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น, นักการเงินแห่งปี, CEO of the Year และบุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจการเงินและธนาคาร แต่รางวัลเหล่านี้ไม่เท่ากับการที่สามารถผลักดันให้ธนาคารออมสินได้เป็นที่รับรู้และจดจำในความทันสมัยด้วยแนวคิด ...มากกว่าธนาคาร ธนาคารเพื่อสังคม... ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก”ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด

ในปี 2562 ธนาคารออมสิน มีแผนการบริหารภายใต้กลยุทธ์ “3 Banking” คือ Traditional Banking, Social Banking และ Digital Banking โดยตั้งเป้ามุ่งสู่การเป็น GSB WAY 2019 : วิถีออมสิน ยุคใหม่ พร้อมเติมเต็มสังคมไทย ก้าวไกลเหนือขีดจำกัดภายใต้แนวคิด เติบโต ยั่งยืน ตอบแทนคืนสู่สังคม ภายใต้กลยุทธ์ 3 Banking ประกอบด้วย Traditional Banking การสร้างความมั่นคงทางการเงิน และขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นบริการธนาคารในรูปแบบปกติ แต่เพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้ามากยิ่งขึ้น พร้อมกับแนะนำและชักชวนให้ลูกค้ามาใช้บริการรูปแบบดิจิทัล

ซึ่งจะทำให้พนักงานมีเวลาขายผลิตภัณฑ์หรือแนะนำบริการต่างๆ ของธนาคารได้มากขึ้น เป็นการลดต้นทุนบริการ และเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นด้วย พร้อมกันนี้จะพัฒนาช่องทางการให้บริการเดิมให้มีความสะดวก รวดเร็วและทันสมัย ซึ่งมีหลากหลาย ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งสาขา รถยนต์บริการเคลื่อนที่ เรือ Bank Agent สถาบันการเงินชุมชน และพันธมิตรใหม่ๆ

กลยุทธ์ด้านที่ 2 Digital Banking ที่จะพัฒนาให้มีบริการที่รวดเร็วและทันสมัยมากขึ้นไปอีกในโลกยุคดิจิทัล พร้อมสร้างความสะดวกสบายบน Digital Platform ใหม่ๆ ตอบสนองทุกช่วงชีวิตของลูกค้า โดยจะพัฒนารูปแบบบริการนี้เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเดินมาใช้บริการที่สาขา เพราะธนาคารออมสินจะมีบริการทางการเงินทุกด้านบนโทรศัพท์มือถือ ในแอพพลิเคชั่นส์ MyMo ตั้งแต่ เปิดบัญชีเงินฝาก ยื่นขอสินเชื่อ สมัครบัตรเครดิต ระบบจัดการเบิกถอนเงินสด โอนเงิน หรือ ชำระค่าสินค้า ซื้อขายหน่วยลงทุน กองทุน การซื้อขายสินค้า (My Merchant) และการสะสมคะแนนจากการใช้บริการ

กลยุทธ์ด้านที่ 3 Social Banking การสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมด้วย Social Branch ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของสถาบันการเงินที่จะมีสาขาดูแลด้านสังคมโดยเฉพาะ ซึ่งปี 2562 ธนาคารออมสินจะดำเนินการอย่างมีรูปแบบชัดเจน โดยจะมีบริการศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ศูนย์แก้ไขหนี้นอกระบบ ศูนย์บริการชุมชน ข้อมูลต่างๆ ในท้องถิ่น จุดให้บริการทางการเงินเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐ (Financial Logistic Center) ศูนย์แสดงสินค้าชุมชน และ O2O ซื้อขายสินค้าออนไลน์ ตั้งเป้าหมายให้บริการในปีนี้กว่า 100 สาขา

“ภายใต้กลยุทธ์นี้ จะเป็นการบูรณาการระหว่างความคิดและการปฏิบัติงานให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นการปรับกระบวนทัพใหม่โดยมีรูปแบบการดำเนินงานตามกรอบ 3 Banking โดยการมุ่งไปสู่ GSB WAY 2019 : วิถีออมสิน ยุคใหม่ นั้น ธนาคารฯ พร้อมด้วยบุคลากร และช่องทางบริการ จะทำหน้าที่เพื่อให้ลูกค้าและประชาชนได้เข้าถึงทุกๆ พื้นที่ จะให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าธนาคารออมสินจะดูแลทุกคน ดูแลชุมชน มีดิจิทัลแบงก์ มีสาขาจะปรับปรุงรูปแบบสาขาให้เหมาะสมกับศักยภาพในพื้นที่

โดยจะเน้นบริการ การขยายช่องทาง Digital ขณะเดียวกันยังจะมีการพัฒนา Feature ใหม่ๆ ผ่านช่องทางบริการ Mobile Banking ที่จะเป็นอีกช่องทางสำคัญในปี 2562 นี้ด้วย ซึ่งจะทำให้สัญลักษณ์ธนาคารออมสินประทับใจ อยู่ในความคิดของประชาชนทุกคนเมื่อนึกถึงการให้บริการทางการเงิน เพื่อให้สมกับสโลแกนของธนาคารที่ว่า ...ออมสินดูแลคุณมากกว่าใคร...”