โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กลเม็ดการเป็นพ่อค้า - แม่ค้าตลาดนัดมืออาชีพ

ชาวบ้านอย่างเราเรา บางทีการเปิดร้านขายของตามตึก ตามอาคารดูเป็นความฝันที่เอื้อมยากไปหน่อย แต่ถ้าหากเริ่มต้นจากการเป็น พ่อค้า - แม่ค้า ตลาดนัดบางทีบางตลาดนัดที่มีค่าเช่าต่ำ แล้วเรามีต้นทุนสินค้าที่ขายไม่แพงนัก บางครั้งก็เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่พ่อค้า-แม่ค้ามืออาชีพ เลี้ยงปากเลี้ยงท้องต่อไปได้

1.เริ่มต้นค้นหาความชอบ คิดดูให้ดีว่าเราชอบอะไร บางค้นยังค้นหาความชอบของตัวเอง ก็ต้องค่อยๆ คิด ค่อยค้นหา แต่สำหรับคนที่มีความชอบอยู่แล้วก็นับว่าเป็นโชคดี แต่สำหรับบางคนที่มีความชอบหลายอย่างก็ต้องนำมากรองว่ามีสิ่งใดที่เราชอบมากที่สุด รู้จักสิ่งนั้นได้ลึกซึ้งสุด พร้อมที่จะเรียนรู้และอยู่กับมันมากที่สุด

2.สินค้า เมื่อรู้ความชอบหรือความถนัดของตนเองแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการหาสินค้าให้สอดคล้องกับความชอบหรือความถนัดนั้น ในบางคนก็ต้องไปหาซื้อจากแหล่งภายนอก แต่สำหรับบางคนก็ผลิตเองขึ้นมาได้ ซึ่งทั้งสองส่วนต้องคิดต่อไปถึงและวัตถุดิบ และที่สำคัญที่สุดคือต้องคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าที่เราจะขายด้วย

3.เงินลงทุน พ่อค้า-แม่ค้าส่วนใหญ่มีเงินสะสมไม่มากนัก ต้องคิดมากในส่วนนี้ หากจำเป็นต้องกู้ จะกู้อย่างไร แบกรับภาระได้ไหม หรือจะใช้แนวทางค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นจากทุนน้อยแล้วค่อยๆ ต่อทุน นอกจากนี้สิ่งที่ พ่อค้า - แม่ค้า จะต้องคำนึงด้วยก็คือ ขาดทุนแค่ไหนที่จะตัดสินใจถอนตัวออกจากตลาด เพราะเราจะไม่สามารถมองโลกในแง่ดีเพียงด้านเดียว แต่เราจำเป็นต้องมองโลกในแง่ร้ายเพื่อป้องกันการเจ็บตัวของเราด้วย

4.หาตลาดนัด ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลากันหน่อย ไม่ควรด่วนตัดสินใจ ควรรู้จักตลาดนัดหลายๆ ตลาดนัดก่อนตัดสินใจ กระบวนการที่สำคัญคือต้องเดินลงไปเที่ยวตลาดนัดที่เราสนใจหลายๆ ครั้ง สังเกตสินค้าที่ขายในตลาดนัดนั้น ซึ่งแต่ละตลาดนัดจะมีเอกลักษณ์บางอย่างที่ไม่เหมือนกัน สังเกตคนเดิน บรรยากาศ ช่องว่างทางการตลาดที่เราจะแทรกสินค้าของเราเข้าไปขาย นอกจากนี้ยังต้องดูขั้นตอนหรือกระบวนการโหลดสินค้าไปขายเป็นไปได้โดยสะดวกมากน้อยเพียงใด

5.คิดหาอุปกรณ์ในการประกอบร้านหรือตกแต่งร้าน การตั้งร้านในตลาดนัด สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ประกอบง่าย ขนย้ายง่าย และที่สำคัญไปกว่านั้นสำหรับตลาดนัดในยุคนี้ที่มีการแข่งขันกันสูงคือการตกแต่งร้าน การทำป้ายหน้าร้านว่าเราขายอะไร ถ้าหากขายของกิน ก็ต้องมีรูปถ่ายของกินประกอบป้าย ขายเสื้อผ้าก็ต้องมีหุ่นประกอบ เป็นต้น

6.การทำบัญชีขาย เรื่องนี้ พ่อค้า-แม่ค้ามือใหม่มักไม่ชอบที่จะทำ แต่เป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเริ่มต้นจากการทำบัญชีแบบง่ายๆ ก่อนคือ แยกสมุดออกเป็น 2 หน้า หน้าซ้ายเป็นรายจ่าย รวมรายจ่ายทุกอย่างตั้งแต่การซื้อสินค้า ค่าเช่าร้าน ค่ากิน ค่าน้ำมันรถ ถ้าหากต้องมีผู้ช่วย ก็ต้องมีค่าลูกน้อง ซึ่งเมื่อทำครบ 1 เดือนแล้ว เราจะรู้ว่ามีรายจ่ายอะไรที่เป็นรายวัน รายจ่ายใดเป็นรายสัปดาห์ และรายจ่ายใดเป็นรายเดือน
ส่วนหน้าขวาเป็นรายรับ ขอให้เราทำทุกวันอย่างละเอียดว่า เราขายสินค้าตัวไหน จำนวนเท่าไหร่ ได้เงินเท่าไหร่ในแต่ละวัน และสรุปรายได้ในแต่ละวัน

เพราะ พ่อค้า - แม่ค้า ตลาดนัดบางคนไม่ได้ไปนัดตลาดเดียว แต่วนหลายตลาด การจดละเอียดเช่นนี้เพื่อเป็นข้อมูลในอนาคตเพื่อการตัดสินใจว่าเราควรซื้อสินค้าไหนมาขาย และควรตัดสินค้าไหนออกไป พร้อมกันนี้เรายังสามารถตัดสินใจได้อีกว่าเราจะเลือกตลาดนัดนี้ เราจะไม่เลือกตลาดนัดนั้น ไปหาตลาดนัดใหม่ เป็นต้น เมื่อเราทำบัญชีสะสมกันหลายเดือนก็จะทำให้เราวางแผนทางการเงินว่าเราควรมีรายได้เท่าไหร่ต่อเดือน ต้องปรับตัวสินค้าหรือต้องปรับเปลี่ยนหาตลาดนัดใหม่ การเก็บข้อมูลทางบัญชีทำให้เราตัดสินใจง่ายขึ้น

7.การส่งเสริมการขายและการล้างสต๊อก พ่อค้า - แม่ค้า ในตลาดนัดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฉลาดในการบริหารสต๊อกของตัวเองดัวย ถ้าหากขายของจำพวกเสื้อผ้า ข้าวของที่ไม่ใช่ของกิน เมื่อขายถึงช่วงหนึ่งที่สินค้าตัวนั้นวิ่งช้าหรือไม่ค่อยวิ่ง เราต้องเอาออกมาลดราคาหรือล้างสต๊อก แต่กลยุทธ์ในการล้างสต๊อกจะต้องหมุนวนไปตลาดที่สินค้าไม่ได้วางขายนานหรือที่เรียกว่าสินค้าช้ำจนเกินไป เพราะจะไม่ก่อประโยชน์ ส่วนสินค้าจำพวกอาหาร พ่อค้า-แม่ค้าต้องคอยสังเกตประเมินปริมาณลูกค้าที่จะมาซื้อ แล้วบริหารการจัดซื้อวัตถุดิบมาปรุงให้แม่นยำ โดยขอให้สินค้าขายหมด เพราะสินค้าในหมวดของอาหารหากขายไม่หมด นอกจากขาดทุนแล้ววันรุ่งขึ้นนำมาปรุงใหม่ก็ไม่สด และไม่อร่อย