โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

CPF เปิดทาง SME ใช้ห้องวิจัยฯนวัตกรรมผลิตอาหารเพื่อผู้สูงวัย ผู้ป่วย

ซีพีเอฟ ลงทุนกว่า 1,300 ล้านบาทเพื่อตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหารใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตั้งโรงงานต้นแบบกว่า 10 ไร่ที่จ.พระนครศรีอยุธยาผลิตอาหารที่ทำหน้าที่ป้องกันโรค-เสริมภูมิต้านทาน รองรับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย

นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟลงทุนกว่า 1,350 ล้านบาทตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมอาหารมาตรฐานโลก พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มุ่งเน้นการคิดค้นสร้างสรรค์วัตถุดิบและอาหารสุขภาพกลุ่มสมาร์ทรองรับสังคมผู้สูงอายุ

ผู้ป่วยและกลุ่มคนทุกช่วงวัยทางซีพีเอฟประเมินว่าในอีกเพียง 2 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงวัยถึง 14 ล้านคน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีความต้องการอาหารในกลุ่ม ย่อยง่าย อิ่มสบายท้อง เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการสารอาหารครบถ้วนและเหมาะกับโรค เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง รวมทั้งกลุ่มคนในทุกเพศวัยที่ต้องการสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอความต้องการของร่างกายแต่ละคน

"ในโลกของนวัตกรรมอาหารอนาคต อาหารเป็นยาที่ช่วยทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคได้ดีขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 2573 และสำคัญที่สุดคือ เรากล้าที่จะเสนอสินค้ามังสวิรัติ ไม่มีเนื้อสัตว์ปน ในขณะที่ซีพีทำธุรกิจเนื้อสัตว์ หมู ไก่ ไข่ ปลา กุ้ง โดยเห็นว่าโอกาสของคนที่รับประทานอาหารเหล่านี้ยังมี "

ปัจจุบัน ซีพีเอฟมีรายได้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร 130,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 90,000 ล้านบาท ในประเทศ 30,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตต่อปี 10-12% และในแต่ละปีจัดสรรงบ 1% จากรายได้หรือคิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารออกมาสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยจาก ต่างประเทศอีกด้วย

เปิดศูนย์นวัตกรรมที่วังน้อยให้เอสเอ็มอีได้ร่วมใช้ ศูนย์นวัตกรรมฯ วังน้อย ประกอบด้วย 2 อาคาร คือ อาคารวิจัย-พัฒนาอาหาร และ อาคารโรงงานต้นแบบ ภายในอาคารประกอบด้วยอุปกรณ์การผลิตและเครื่องมือวิเคราะห์ที่ทันสมัย ทั้งยังถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอาหารของเครือ

โดยมีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขารวมกว่า 250 คนมาทำงานบูรณาการร่วมกัน ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก คือ นักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านอาหาร วิศวกรและเชฟ ที่จะนำองค์ความรู้จากวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์มาพัฒนาสิ่งใหม่ และช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นฮับแห่งนวัตกรรมด้านอาหารในระดับโลก พร้อมส่งต่อองค์ความรู้จากแล็บไปยังบริษัทในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ศูนย์นวัตกรรมฯ ที่ อ.วังน้อยถือเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่สามารถทำการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้ง 9 กลุ่มสินค้าหลัก ในเครือ อาทิ ไก่เป็ด ไข่ ไส้กรอก หมู สัตว์น้ำ ซอสปรุงรส เบเกอรี่ อาหารพร้อมทาน

นอกจากนี้ ในอนาคตจะเปิดกว้างให้กับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก เข้ามาใช้บริการศูนย์วิจัยและโรงงานต้นแบบเพื่อทดลองทำผลิตภัณฑ์ในสูตรเฉพาะตนเองออกไปทดลองตลาด ก่อนที่จะลงทุนขยายกำลังการผลิตระดับแมสต่อไป หรือหากมีจำนวนไม่มากก็สามารถใช้บริการผลิตจากโรงงานต้นแบบนี้ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตและจัดจำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงสามารถนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากโรงงานไปทดลองตลาดได้ ลูกค้าเอสเอ็มอีสามารถเข้ามาใช้บริการในรูปแบบวัน สต๊อป เซอร์วิส เริ่มต้นแต่การพัฒนาไอเดียให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ได้อย่างรวดเร็ว ทันกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

พัฒนานวัตกรรมอุดช่องว่างระหว่างยากับอาหาร นงสาวศศิ ภวมัย ผู้จัดการฝ่ายวิจัยผลิตภัณฑ์อาหาร กล่าวว่า แนวทางการพัฒนานวัตกรรมอาหาร ซึ่งไม่ใช่ทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา แต่อยู่ตรงกลางระหว่างยากับอาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค ไม่ใช่การรักษาโรค อีกทั้งรูปแบบการบริโภคก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแคปซูลเหมือนยา โดยอาจอยู่ในรูปแบบเม็ดแล้วนำไปผสมในอาหารหรือเครื่องดื่ม เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้วจะออกฤทธิ์ในตำแหน่งหรืออวัยวะส่วนที่ต้องการได้

ตัวอย่างเช่น บริษัทได้พัฒนาซุปเพื่อสุขภาพ ที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ฟักทอง มันม่วง ผักโขมและบร็อกโคลี่ เป็นต้น เน้นรับประทานง่าย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับ ผู้บริโภคที่มีปัญหาด้านการเคี้ยวกลืนอาหาร เช่น ผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสายยาง ผู้ป่วยระยะพักฟื้น รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ภายในปีนี้ ยังเตรียมวางจำหน่ายเครื่องดื่มที่สกัดจากน้ำใบบัวบก ที่มีคุณสมบัติด้านการบำรุงสมอง ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบกับผู้บริโภค และในอนาคตจะพัฒนาอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นยาออกมาในลักษณะนาโนแคปซูล นาโนเซลลูโลส โพรไบโอติกส์ ออกมาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศ จากปัจจุบันซีพีเอฟ มีฐานลูกค้าทั่วโลกประมาณ 3,000 ล้านคน

"มีการศึกษาวิจัยพบว่า น้ำใบบัวบกมีสาระสำคัญที่จะช่วยบำรุงประสาท ลดโรคความจำเสื่อม ต่อไปการดื่มน้ำใบบัวบกจะไม่ใช่แค่บำรุงเรื่องระบบย่อยอาหาร หรือสรรพคุณเพื่อแก้การฟกช้ำเท่านั้นแต่ยังบำรุงระบบประสาท ที่สำคัญเป็นพืชพื้นบ้านของไทย ฉะนั้น การวิจัยและพัฒนานี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบบัวบกซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านมากขึ้น" นางสาวศศิ กล่าว

ฉะนั้น ทิศทางในอนาคตของอีกหนึ่งภารกิจของศูนย์นวัตกรรมฯ คาดว่าจะมีการวิจัยและคิดค้นสารอาหารให้อยู่ในรูปแบบแคปซูล โดยใช้พืชของไทยมาเป็นส่วนผสม อาทิ ใบบัวบก ใบเตย หลังจากมีรายงานการศึกษาวิจัยที่ชี้ชัดว่าพืชบางชนิดมีสารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็ง ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในช่วงของการทดลองและค้นหาสารดังกล่าว