โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

สจล. เสนอแผน 3 ระยะแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 แนะภาครัฐมุ่งเป็นวาระฝุ่นแห่งชาติ

ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวว่า ในขณะนี้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  กลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง สาเหตุของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง มาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถูกปล่อยจากเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง เช่น ควันจากท่อไอเสียรถ การจราจรขนส่ง รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ในงานก่อสร้าง เป็นต้น ผนวกการคาดการณ์ของแอปพลิเคชั่น “WMApp” ที่พยากรณ์อากาศความละเอียดสูงสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป พบว่า สภาพอากาศปิด ลมสงบ ส่งผลให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ผ่านไทม์ไลน์ 3 ระยะมุ่งจัดการยานพาหนะของหน่วยงานภาครัฐ มีดังนี้

1. ตรวจ – ปรับเปลี่ยนยานพาหนะภาครัฐ การตรวจสภาพเครื่องยนต์ให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปรับแต่งรถให้ลดการปล่อยก๊าซพิษที่เป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งเป็นแผนการแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยเฉพาะยานพาหนะขนส่งสาธารณะและยานพาหนะอื่นๆ ในสังกัด กทม. เช่น รถเมล์และรถร่วมบริการ ขสมก. รถตู้ รถขนขยะ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเก่าที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์

2.เน้นเช่ารถ เพื่อลดปัญหาการซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แผนระยะกลาง มุ่งการบริหารจัดการระบบยานพาหนะของภาครัฐ ควรใช้ระบบการเช่ารถมากกว่าการจัดซื้อ เนื่องจากมีความคุ้มค่าในเรื่องการบำรุงรักษา ทั้งนี้ จำนวนยานพาหนะในภาครัฐมีจำนวนกว่า 20,000 คัน ที่ใช้ทำกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง

3.หนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า สำหรับแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยมุ่งส่งเสริมและปรับเปลี่ยนยานพาหนะของภาครัฐสู่การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะในเขตเมือง เนื่องจากรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะช่วยลด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ เขม่าผงคาร์บอน ที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละออง

ทั้งนี้ ภาครัฐจำเป็นจะต้องเสนอเป็นวาระสำคัญระดับประเทศ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องวางแผนเชิงรุกและแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดร. สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย