โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

7 ต้องระวัง !!! ทำธุรกิจชาบูอย่างไรไม่ให้เจ๊ง

ร้านชาบูได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดเป็นกระแสบอกต่อถูกใจเหล่าบรรดานักชิมทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ร้านชาบูจึงกลายเป็นธุรกิจยอดนิยมอันดับต้นๆ ที่มีทั้งรายเล็กรายใหญ่เข้ามาจับจองส่วนแบ่งทางการตลาด แต่หลายร้านต้องปิดตัวลง สำหรับมือใหม่ที่อยากเข้าสู่วงการนี้ มาดูกันว่าควรทำอย่างไรให้ร้านห่างไกลคำว่าเจ๊ง

ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจทำธุรกิจชาบู

1.ทำเล

ปัจจัยสำคัญของธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านชาบูที่เน้นบรรยากาศการนั่งทานในร้าน ที่จอดรถมีเพียงพอหรือไม่ เดินทางสะดวกไหม รวมถึงราคาค่าเช่าที่เป็นต้นทุนหลัก แม้มีจำนวนคนเยอะ แต่หากค่าเช่าแพงเกินไป ลองหาทำเลที่ดูแล้วมีโอกาสเติบโตในอนาคตแทน สำคัญคือต้องสอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าของร้านด้วย

2.การบริหารจัดการ

ทิศทางของธุรกิจจะไปทางใด ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ เป็นขั้นตอนที่สร้างความปวดหัวไม่ใช่น้อยสำหรับมือใหม่ ประกอบไปด้วย ต้นทุนต่างๆ เช่น วัตถุดิบ พนักงาน ต้นทุนคงที่ ต้นทุนแปรผัน ร้านจะได้กำไรมากน้อยหรือขาดทุนไปเลยขึ้นอยู่กับส่วนนี้ ความยากของธุรกิจชาบูอยู่ที่ราคาวัตถุดิบที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง
คุณภาพอาหารที่ดี มักมีราคาสูง เลือกให้เหมาะสมกับคอนเซ็ปต์ของร้าน ของดีไม่ใช่ของแพงเสมอไป เพราะท้ายสุดลูกค้าจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกเข้าร้านไหน

จำนวนพนักงานเองก็มีผลทำให้ต้นทุนสูงขึ้น บางร้านมีการเสิร์ฟเฉพาะเนื้อสัตว์ ส่วนเครื่องดื่ม ผัก ของว่างต่างๆให้ลูกค้าบริการตัวเอง ช่วยประหยัดค่าแรงพนักงานได้ดีพอสมควร
ระบบการจัดการหลังร้าน ระบบที่ดีจะช่วยให้การดำเนินงานของร้านไหลลื่น ตั้งแต่ขั้นตอนการรับออเดอร์ การจัดเตรียมอาหาร การเติมอาหาร การคิดเงิน ฯ ทุกอย่างต้องรวดเร็วและถูกต้อง

3.ราคา

ราคาที่ตั้งต้องสมเหตุสมผลกับขนาดของธุรกิจและวัตถุดิบที่เลือกใช้ โดยที่ร้านต้องอยู่ได้และลูกค้าจ่ายไหว ลูกค้าส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบราคากับอาหารที่ได้รับ ข้อดีของชาบูบุฟเฟ่ต์คือรู้ราคาที่แน่นอนทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจเข้าร้าน

สิ่งที่ต้องระวังและควรให้ความสำคัญ เพื่อให้ธุรกิจชาบูอยู่รอด

1.รสชาติและคุณภาพของอาหาร

เรื่องของรสชาติที่อร่อยช่วยให้เกิดความประทับใจ จุดเด่นที่แตกต่างกันของร้านชาบูจะอยู่ที่น้ำจิ้มและน้ำซุป อาหารต้องคัดสรรเลือกใช้จากแหล่งที่มีความสดและสะอาด ลูกค้ามักจะมีความคาดหวังอยู่เสมอถ้าเราสามารถทำให้รู้สึกว่าคุณภาพที่ได้รับคุ้มเกินราคาที่จ่ายไปผลลัพธ์ที่ได้กลับมาก็เกินคาดเช่นกัน

2.บริหารต้นทุนวัตถุดิบ

เป็นจุดที่ควรระวังอย่างมากสำหรับร้านชาบูประเภทบุฟเฟ่ต์ ต้นทุนวัตถุดิบที่มีความแปรผันสร้างความหนักใจแก่ผู้ประกอบการพอสมควร การลดคุณภาพของวัตถุดิบเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ให้ความสำคัญกับเรื่องของซัพพลายเออร์ที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของราคา จัดหาปริมาณวัตถุดิบได้เพียงพอต่อความต้องการของร้าน

3.จัดการเรื่องอาหาร เพื่อลดการสูญเสีย

ความท้าทายของร้านชาบูคือปริมาณอาหารที่ต้องสูญเสียในแต่ละวัน รวมกันกลายเป็นปริมาณที่เยอะจนน่าตกใจในแต่ละเดือน เพราะนั่นคือจำนวนเงินที่หายไป ในมุมมองของลูกค้าที่เข้ามาทานอาหารคือความคุ้มทั้งปริมาณและราคาที่จ่าย ต้องทานให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ให้รู้สึกขาดทุน ซึ่งผู้ประกอบการต้องเข้าใจในส่วนนี้ ลองดูว่าอาหารชนิดใดที่ไม่ค่อยมีใครสั่งและหากมีต้นทุนสูงด้วยนั้นก็ควรตัดออกไปจากเมนู ชิ้นส่วนต่างๆที่ไม่ได้รับความนิยมสามารถนำมาดัดแปลงเป็นเมนูใหม่ได้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าใช้แค่บางส่วนแล้วทิ้งที่เหลือไปอย่างน่าเสียดาย

4.ทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทำการตลาดในส่วนของออฟไลน์เริ่มจากการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าบริเวณนั้นรับรู้ว่ามีร้านชาบูของเราตั้งอยู่ตรงนี้ จุดขายคืออะไรต้องนำเสนอให้ชัดเจน มีอะไรดีอะไรน่าลองต้องใส่ให้เต็มที่ อาจจะมีสโลแกนเก๋ๆที่ง่ายต่อการจดจำและทำให้เกิดความน่าสนใจ การตลาดทางออนไลน์ก็ต้องมีไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Application และ Website เพิ่อแจ้งข่าวสารต่างๆ เช่น โปรโมชั่น เมนูใหม่น่าลอง ส่วนลดต่างๆ ฯ
อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การรีวิวทั้งลูกค้าจริง และเหล่า Influencer เพื่อให้เกิดการบอกต่อ แชร์ต่อบนโลกออนไลน์ อย่ารอให้เกิดการรีวิวเอง ร้านชาบูควรมีการใช้บริการทำประชาสัมพันธ์ออนไลน์ร้านอาหารด้วย

5.เมนูหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์

เมนูอาหารที่เยอะตระการตาเป็นแรงดึงดูดชั้นดีในการเรียกลูกค้า เช่น ส่วนของเนื้อสัตว์ต้องมีให้เลือกหลายชนิดและหลายชิ้นส่วน น้ำจิ้มและน้ำซุปก็ควรมีอย่างน้อย 2 อย่าง อยากให้เป็นที่จดจำควรใส่ไอเดียใหม่ๆที่ต่างจากร้านชาบูทั่วไป แล้วนำเสนอให้เป็นจุดขายของร้าน

6.จำนวนลูกค้า เวลา และพื้นที่

ร้านชาบูบุฟเฟ่ต์จะมีเรื่องของเวลาที่จำกัด แต่ก็มีบางร้านที่ไม่กำหนดเวลาในการรับประทาน ดังนั้นพื้นที่ร้านต้องมีบริเวณมากพอที่จะรองรับจำนวนลูกค้า ร้านที่มีขนาดเล็กจะเสียเปรียบในส่วนนี้ เรียกได้ว่าทุกตารางเมตรต้องใช้อย่างคุ้มค่า การวางแปลนของโต๊ะและเก้าอี้จึงมีความสำคัญ ยิ่งทำรอบได้เยอะรายได้ต่อหัวก็จะเยอะตามไปด้วย

7.การบริการ

นอกจากอาหารอร่อยแล้วการบริการที่ดียังช่วยสร้างความประทับใจ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอยากกลับมาใช้บริการอีก แม้จะเป็นรูปแบบบุฟเฟ่ต์แต่การบริการที่รวดเร็วและการเอาใจใส่ของพนักงานยังคงเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการเสมอ

ร้านชาบูถือเป็นหนึ่งในธุรกิจร้านอาหารที่มีความยุ่งยากค่อนข้างมาก ต้องรับมือกับหลายสิ่งที่คาดเดาได้ยาก การบริหารภายในร้านที่ต้องอาศัยการสังเกต คิด วิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขอยู่เสมอ ผู้ประกอบการต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม การจะเปิดร้านอาหารบางครั้งแค่ฝีมืออย่างเดียวคงไม่พอเพราะนี่คือการทำธุรกิจ ถ้าอยากเดินในเส้นทางนี้ต้องมีองค์ประกอบอื่นควบคู่ไปด้วยจึงจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME

Tag ร้านชาบู ธุรกิจร้านอาหาร Hotpot SME ชี้ช่องรวย สอนทำร้านอาหาร