โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กสอ. ปักหมุด 215 ชุมชน สู่แลนด์มาร์คใหม่ “หมู่บ้านซีไอวี”

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งพัฒนาโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV ของปี 2562 เตรียมปั้นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองใหม่ 215 ชุมชน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ชี้เทรนด์การท่องเที่ยวชุมชนปีนี้มี 7 รูปแบบ โดยยังคาดว่าสังคมออนไลน์และระบบดิจิทัลจะมีอิทธิพลอย่างสูง เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการค้นคว้าข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ และต้องการความคุ้มค่าจากสิ่งที่จะได้รับ

สำหรับแผนในการพัฒนาโครงการหมู่บ้าน CIV ของปีนี้ จะมุ่งดำเนินโครงการและกิจกรรมที่เข้มข้นทั้ง การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ การพัฒนาแอปพลิเคชั่น การพัฒนาการตลาดให้มีประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือต่างๆ อาทิ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC) โครงการไทยเด่น การฝึกอบรมเชิงลึกในด้านการทำตลาดเพื่อเจาะกลุ่มกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะบุคคล ซึ่งจะช่วยลดการกระจุกตัว พร้อมผลักดันให้เมืองรองในแต่ละภูมิภาคเติบโตขึ้นเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักในอนาคต

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีนี้ กสอ.ยังคงมุ่งดำเนินโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV ด้วยแผนงานและกิจกรรมต่างๆอย่างเข้มข้น โดยจะผลักดันให้หมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาแล้วก้าวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตสินค้า และบริการที่เป็นที่นิยม เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากและชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถไต่ระดับไปสู่ SMEs ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรรค์ มีการเพิ่มผลิตภาพ การพัฒนามาตรฐานต่าง ๆ การรวมกลุ่มหรือคลัสเตอร์ พร้อมด้วยการผสมผสานกิจกรรมที่จะช่วยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิรูปแบบใหม่ ๆให้กับประเทศไทย สอดคล้องกับการเป็นจุดหลายปลายทางทางการท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อระดับโลก

สำหรับเทรนด์การท่องเที่ยวชุมชนในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ใน 7 รูปแบบ ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวทางน้ำ การท่องเที่ยวแบบวิถีชาวบ้าน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และการท่องเที่ยวแบบมีกิจกรรมหรือผจญภัย ซึ่งยังคาดว่าสังคมออนไลน์และระบบดิจิทัลจะมีอิทธิพลอย่างสูง เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการค้นคว้าข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ และต้องการความคุ้มค่าจากสิ่งที่จะได้รับ เช่น แพ็กเกจการท่องเที่ยว การใช้จ่ายด้านค่าอาหาร – เครื่องดื่ม สินค้าที่ระลึก ฯลฯ

ทั้งนี้ จากความสำคัญดังกล่าวจึงต้องสร้างทั้งความเข้าใจ และสร้างช่องทางดังกล่าวเพื่อให้ผู้ให้หรือผู้ใช้บริการได้รับประสิทธิภาพระหว่างกัน โดยเฉพาะการให้ข้อมูลในลักษณะอธิบายความรวมถึงการรีวิวและเพื่อให้สอดรับกับกระแสดังกล่าวที่กำลังเกิดขึ้น กสอ.จึงได้สร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และนักท่องเที่ยว ผ่านเว็บไซต์ www.thaiciv.com ซึ่งช่องทางดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยในการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับบริการทางการท่องเที่ยวของหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในทุกภูมิภาค อาทิ สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เทศกาลและกิจกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชน นอกจากนี้ กสอ. ได้จัดทำแอปพลิเคชั่น ชื่อว่า “Application CIV like” โดยนำเสนอเรื่องราวท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน แผนที่แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงที่พักโฮมสเตย์ให้ผู้สนใจได้ดูข้อมูลก่อนเดินทาง ซึ่งช่วยสร้างโอกาส ทางการตลาด สร้างระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัย สามารถดึงดูดผู้เข้าเยี่ยมชมหมู่บ้าน และก่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างยั่งยืนในท้องถิ่น ซึ่งสามารถแสดงผลบนสมาร์ทโฟนทั้งในระบบปฏิบัติการ IOS และ Android อันเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้ใช้งานได้สะดวก โดยนำร่องหมู่บ้าน CIV จำนวน 27 หมู่บ้าน จาก 215 หมู่บ้านทั่วประเทศ ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจาก กสอ. อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่นดังกล่าวจะเป็นช่องทางในการสร้างประโยชน์ให้ชุมชนหมู่บ้าน CIV อย่างแท้จริง และสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อรองรับการเติบโตของหมู่บ้าน CIV ในระยะยาวอีกด้วยได้

นอกเหนือจากการพัฒนาด้านสังคมออนไลน์และระบบดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพสำหรับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แล้ว ในปีนี้ กสอ.ยังมีแผนที่จะพัฒนาด้านการตลาด ด้วยการเปลี่ยนมุมมองให้นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคเห็นว่าการท่องเที่ยวชุมชนนั้นให้ทั้งประสบการณ์และคุณค่าที่หาได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวที่เน้นการนำเสนอเรื่องราวและอัตลักษณ์อันโดดเด่นของแต่ละชุมชน แพ็กเกจต่างๆที่มึความหลากหลาย การนำเสนอภาพลักษณ์ของแต่ละภูมิภาคให้ชัดเจน เช่น ภาคอีสานที่ขึ้นชื่อด้านประเพณีและกิจกรรมอันรื่นเริง ภาคกลางกับการท่องเที่ยวเชิงศิลปะสร้างสรรค์ ภาคเหนือกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความยั่งยืน ภาคใต้กับความโดดเด่นของธรรมชาติและท้องทะเล นอกจากนี้ ยังจะฝึกอบรมเชิงลึกในด้านการทำตลาดเพื่อเจาะกลุ่มกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะบุคคล อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ LGBTQ กลุ่มมิลเลนเนียล กลุ่มชาวต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยการลดการกระจุกตัว และกระจายรายได้ไปสู่แต่ละท้องถิ่น พร้อมผลักดันให้เมืองรองในแต่ละภูมิภาค เติบโตขึ้นเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักในอนาคต

จากการเติบโตและความนิยมของการท่องเที่ยวเมืองรองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กสอ.จึงมีแผนในการพัฒนาโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของปี 2562 เพื่อให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆให้ได้จำนวน 215 ชุมชน ในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาได้พัฒนาไปแล้ว 27 ชุมชน และบางชุมชนก็ได้กระแสตอบรับจากผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวอย่างดีเยี่ยม อาทิ หมู่บ้านคีรีวงศ์ อ.คีรีวงศ์ จ.นครศรีธรรมราช ชุมชนน้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน ชุมชนออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างกำลังพัฒนาอีก 80 ชุมชน ด้วยเครื่องมือและโครงการที่สำคัญต่างๆ เช่น ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC) ที่จะเน้นเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาช่วยทั้งการดีไซน์ การค้าขายผ่อนออนไลน์ โครงการไทยเด่น โครงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว CIV 4.0 โครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทยโดยเน้นที่ SMEs เกษตร นอกจากนี้ ยังมีโครงการบิ๊กบราเธอร์ (Big Brother) หรือพี่ใหญ่ช่วยน้องที่ กสอ.ได้ประสานกับบริษัทชั้นนำที่มีศักยภาพเข้ามาส่งเสริมชุมชนให้เข้มแข็ง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย เอไอเอส และโตโยต้าซึ่งชุมชนจะได้เรียนรู้แนวทางแห่งความสำเร็จพร้อมนำไปปรับใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างมีคุณภาพ

เมื่อเร็วๆนี้ กสอ. ยังได้จัดกิจกรรมเยี่ยมชมพื้นที่ชุมชนเกาะพิทักษ์ ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร และชุมชนหาดส้มแป้น ต.หาดส้มแป้น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ซึ่งเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่เพิ่มศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ สินค้า และบริการในหมู่บ้านจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยว อาทิ การเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงการ ทำเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ตกปลาไดร์หมึก และวิถีชีวิตของการร่อนแร่ที่มีชื่อเสียงของบ้านหาดส้มแป้น นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นด้วยผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อจากชุมชนไม่ว่าจะเป็นสินค้าแปรรูปปลาอินทรีย์ฝังทราย เซรามิกจากดินขาวที่มีคุณภาพอันดับ 1 ของเอเชีย ไข่เค็มน้ำแร่ดินขาว และการทำผ้ามัดย้อมธรรมชาติจากวัสดุในท้องถิ่น รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆอีกมากมาย

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2367 8339 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th