เอสเอ็มอีแบงก์เปิดสินเชื่อ “ฮัก...โชห่วย สินเชื่อไม่เกิน 7 แสนบาท/ราย เพื่อต่อยอดธุรกิจให้ทันสมัย ในขณะเดียวกันก็ปล่อยสินเชื่อให้ร้านค้าจตุจักรรายละไม่เกิน 2 แสนบาท ไว้ไปทำออนไลน์
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ในปี 2562 ธนาคารตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งสิ้น 5.2 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อสำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานตามแผนปกติของธนาคารในทุกปี ส่วนวงเงินอีก 2.2 หมื่นล้านบาทนั้น จะเป็นการปล่อยสินเชื่อสำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพบว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการรายเล็กในหลายกลุ่มธุรกิจที่ยังมีความต้องการใช้เงินทุนเพื่อต่อยอดการทำธุรกิจ
เบื้องต้นในปีนี้กลุ่มที่ธนาคารต้องการสนับสนุนคือกลุ่มโชห่วย ผู้ค้าในจตุจักร และผู้ประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ โดยเปิดโครงการสินเชื่อ ฮัก...โชห่วย เพื่อเป็นเงินทุน โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับการต่อยอดและพัฒนาธุรกิจให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น โดยเบื้องต้นจะปล่อยสินเชื่อที่ 7 แสนบาท/ราย นอกจากนี้ธนาคารยังมีแผนในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ค้าที่อยู่ในพื้นที่ตลาดนัดสวนจตุจักรเฉลี่ยรายละไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1.1 หมื่นราย เพื่อยกระดับเป็นการค้าขายแบบอี-คอมเมิร์ซ และยังมีแผนจะปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้
ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่คิดจะอยู่ในระดับต่ำ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการ โดยหากผู้กู้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะคิดอัตราดอกเบี้ย 1 ล้านบาทแรก ในปีแรกที่ 1% ต่อปี หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 0.08% ต่อเดือน ส่วนวงเงินกู้ตั้งแต่ 2-6 ล้านบาท จะคิดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 0.25% ต่อเดือน และหากขอกู้แบบบุคคลธรรมดา จะคิดอัตรา 1% ต่อปี หรือ 0.425% ต่อเดือน
นายมงคล กล่าวว่า ผู้ประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเข้าถึงสินเชื่อที่ถูกต้อง โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชุมชน หรือกลุ่มที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนเข้าระบบอย่างถูกต้อง เพราะมีความกังวลหลายอย่าง โดยเบื้องต้นธนาคารจะใช้เครื่องมือ “รถม้าเติมทุน” เข้าไปหาเพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
สำหรับการเพิ่มทุน ธนาคารได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังขอเพิ่มทุนวงเงิน 8,000 ล้านบาท โดยจะใช้เงินของกองทุนเพื่อการพัฒนาแบงก์รัฐดำเนินการ พร้อมทั้งภายในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ธนาคารยังมีแผนที่จะออกหุ้นกู้วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท โดยหลักการทั้งหมดผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา วงเงินที่ได้ดังกล่าวเพื่อนำมาเสริมความแข็งแกร่งในการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี