โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

เกษตรฯ เสริมทัพภาคีเครือข่ายโลจิสติกส์

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา โดยมี ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอนันต์ สุวรรณรัตน์) เป็นประธานการประชุมและ สศก.ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการการประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ได้มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ เพิ่มเติมจากชุดเดิม ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กระทรวงคมนาคม และ กระทรวงการคลัง เพื่อบูรณาการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์เกษตรให้สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าเพิ่มขึ้น

ในการนี้ ที่ประชุมได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการทั้งสิ้น 68 โครงการ งบประมาณกว่า 3,500 ล้านบาท โดยมีศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ (Cooperative Distribution Center: CDC) จำนวน 122 แห่ง ทั่วประเทศเป็นหลักในการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร มีการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ให้แก่สถาบันเกษตรกร อาทิ โกดังเก็บสินค้า รถโฟล์คลิฟท์ รถแทรกเตอร์ จำนวนกว่า 50 แห่ง มีการเพิ่มศักยภาพด่านสินค้าเกษตร โดยปรับปรุงห้องปฏิบัติการและจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อให้ตรวจสินค้าเกษตรสะดวกรวดเร็วขึ้น จำนวน 27 แห่ง และมีการก่อสร้างด่านตรวจสัตว์น้ำ 1 แห่ง ในจังหวัดนราธิวาส

สำหรับปี 2562 กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนงานโครงการทั้งสิ้น 53 โครงการ งบประมาณกว่า 2,500 ล้านบาท โดยมีแผนการพัฒนาโซ่คุณค่า (Value Chain) โซ่ความเย็น (Cold Chain) และการพัฒนากระบวนการด้านโลจิสติกส์สินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล กลุ่มเป้าหมาย คือ สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่

เพื่อให้การพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร มีความสอดคล้องกับร่างแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ที่ประชุมจึงมีมติให้ยกร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2563 – 2565 โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในเชิงพื้นที่ในสินค้าเกษตรชนิดใหม่ เช่น สมุนไพร มะพร้าวน้ำหอม แมลงเศรษฐกิจ สาหร่าย พรรณไม้น้ำ และปลากัด รวมถึง ส่งเสริมการบริการด้านโลจิสติกส์ ในสถาบันเกษตรกร เช่น บริการเก็บเกี่ยว บริการให้เช่าคลังสินค้า บริการห้องเย็น และบริการขนส่ง เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สถาบันเกษตรกรและบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ จะได้มีการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2563 – 2565 และแผนงาน/โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ต่อไป