โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

วิถีเกษตร กับการปั้นช่างเกษตรท้องถิ่น เกษตรกรได้ความรู้ ซ่อมเองได้ ลดรายจ่ายเฉลี่ย 624 บาท/เครื่อง

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผล ติดตามการดําเนินกิจกรรมสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ภายใต้โครงการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักกิจกรรม โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ ในด้านเทคนิคการใช้และการบํารุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตร ตลอดจนสร้างช่างเกษตรประจําท้องถิ่น เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรของประเทศ กำหนดเป้าหมายเกษตรกร 2,100 ราย รวม 38 จังหวัดในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และ ศพก. ซึ่งปี 2561 ดำเนินการได้ 2,106 รายตามเป้าหมายที่กำหนด

การดำเนินกิจกรรมโครงการ ได้จัดถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านทักษะเทคนิคการใช้และการบํารุงรักษา และการบริหารจัดการเครื่องจักรกล โดยหน่วยงานกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 1 ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เบื้องต้น โดยพัฒนาทักษะและเทคนิคในการใช้งานและบำรุงรักษาเครื่องยนต์เบื้องต้น ซึ่งภายหลังการอบรม จะได้รับวัสดุอุปกรณ์ อาทิ ไส้กรอง และน้ำมันเครื่อง เพื่อนำไปใช้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ของตนเอง ช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 2 เป็นช่างเกษตรที่ผ่านการฝึกอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นระดับที่ 1 มาแล้ว ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เบื้องต้นด้านการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร และ ช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 3 เป็นช่างเกษตรที่ผ่านการฝึกอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นระดับที่ 2 มาแล้ว ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เบื้องต้นด้านการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการทำงานของเครื่องจักรกล โดยเมื่อผ่านการอบรม ช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 2 และ 3 จะได้รับอุปกรณ์เพื่อใช้ในการดูแลและซ่อมแซมเครื่องจักรกล เช่น ประแจแหวนปากตาย ประแจบล็อกตัวที่ และด้ามขันบล็อก เป็นต้น

จากการที่ สศก. ลงพื้นที่ติดตามเกษตรกรที่ผ่านการอบรมช่างเกษตรท้องถิ่น ระดับ 1-3 ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม และศรีสะเกษ พบว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรร้อยละ 97 มีเครื่องจักรกลทางการเกษตรเป็นของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องตัดหญ้า เครื่องพ่นยา/ปุ๋ย รถไถเดินตาม เครื่องสูบน้ำ รวมทั้งรถไถขนาดใหญ่ และรถอีแต๋น โดยเกษตรกรมีความรู้การบํารุงรักษา/ซ่อมบํารุงเครื่องจักรกลทางการเกษตรอยู่ก่อนบ้างแล้ว จากการอบรมของกรมฝีมือแรงงาน ช่างในหมู่บ้าน และจากญาติพี่น้องที่มีความรู้ในด้านนี้ ซึ่งหลังจากเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 3 ระดับ ร้อยละ 98 เห็นว่า เนื้อหาของแต่ละหลักสูตรตรงกับความต้องการ โดยร้อยละ 97 ได้นําความรู้จากการอบรมไปปรับใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไส้กรองอากาศ และ สายพาน อย่างไรก็ตาม ที่เหลือร้อยละ 3 ยังไม่ได้นําความรู้ไปปรับใช้ เนื่องจากยังไม่ถึงรอบการดูแลหรือยังไม่มีเครื่องเสียหาย

นอกจากนี้ เกษตรกรที่ผ่านการอบรม ร้อยละ 73 มีการนําความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับเพื่อนบ้าน และสมาชิกในครอบครัว สามารถซ่อมบํารุงด้วยตนเองได้เพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 78 เป็นร้อยละ 98 และหลังเข้าโครงการสามารถ เกษตรกรสามารถลดการจ้างแรงงานในการซ่อมแซม/ปรับปรุงเครื่องจักรกลทางเกษตรลดลง โดยลดรายจ่ายในการซ่อมบํารุงรักษาเครื่องจักรกลทางการเกษตรได้เฉลี่ย 624.44 บาท/เครื่อง
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังต้องการให้มีการจัดอบรมทุกปี เน้นการฝึกปฏิบัติหรือฝึกจากเครื่องที่เสียจริง เพิ่มระยะเวลาการจัดอบรมในแต่ละระดับ และเนื้อหาการอบรมให้มีหลากหลายมากขึ้น เช่น เครื่องตัดหญ้า เครื่องพ่นยา/ปุ๋ย และให้มีการติดตามให้คําแนะนําจากเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง โดยต้องการให้เปิดการจัดอบรมในชุมชน เพื่อสะดวกต่อการเดินทางไปอบรม รวมถึงต้องการให้สนับสนุนเครื่องมือซ่อมให้กับชุมชนไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ เกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่งใกล้บ้าน