ผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือร้านค้ามักมีจุดอ่อนเรื่องการบริหารเงินทุนหมุนเวียน ไม่รู้ถึงสถาภาพของเงินว่าต้องเตรียมเงินสำรองก่อนรายได้เข้ามามากน้อยเพียงใด จนถึงจุดหนึ่งไม่สามารถประเมินสุขภาพของกิจการ
“ความหมายของเงินทุนหมุนเวียน”
เงินทุนหมุนเวียน คือ เงินทุนที่กิจการต้องใช้หมุนเวียนสำหรับการดำเนินงานก่อนที่กิจการจะได้รับเงินสดจากการขายสินค้าและบริการ หรือการชำระหนี้จากลูกหนี้การค้า
หรือ เงินทุนหมุนเวียน หมายถึง เงินทุนที่กิจการต้องมีสำรองไว้ใช้หมุนเวียน ตั้งแต่กิจการเริ่มจ่ายเงินสดในการชำระค่าสินค้า/วัตถุดิบหรือชำระหนี้คืนเจ้าหนี้การค้า และจ่ายค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่างๆ
จนกว่ากิจการจะได้รับเงินสดจากการขายสินค้าหรือบริการ หรือรับชำระเงินจากลูกหนี้การค้า (โดยไม่นับรวมถึงการซื้อสินทรัพย์ เช่น อาคาร เครื่องจักร ยานพาหนะ อุปกรณ์ เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น) เพื่อให้กิจการสามารถขายสินค้าและบริการได้ตามเป้าหมาย
“การคำนวณหา “ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน” อย่างง่าย”
ในที่นี้ เราจะแสดงสูตรคำนวณหาความต้องการเงินทุนหมุนเวียน ที่เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารนิยมใช้ ดังนี้
เงินทุนหมุนเวียน = ลูกหนี้การค้า + สต๊อคสินค้า/วัตถุดิบ – เจ้าหนี้การค้า
แต่โดยทั่วไปธนาคารจะไม่พิจารณาให้วงเงินสินเชื่อสำหรับเงินทุนหมุนเวียนมากกว่าความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน ขึ้นอยู่กับนโยบายธนาคาร
“ตัวอย่างการคำนวณหาความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนอย่างง่าย”
ตัวอย่างร้านขายหมูปิ้ง บางคนอาจคิดว่ากิจการประเภทนี้อาจไม่มีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน แต่ในความจริงแล้ว กิจการก็มีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนในแต่ละวันเช่นกัน
ร้านขายหมูปิ้งมีวัตถุดิบ เช่น หมูปิ้ง, ไม้, เครื่องปรุง, สมุนไพร เป็นต้น โดยต้องเตรียมซื้อวัตถุดิบและหมักหมูไว้ก่อนแล้วรอขายในวันถัดไป (หรือใช้เวลาประมาณ 1 วันจึงได้รับเงินค่าหมูปิ้ง)
หากกิจการมียอดขายจำนวน 3,000 บาท/วัน มีต้นทุนวัตถุดิบประมาณการร้อยละ 50 ของยอดขาย
แสดงว่า กิจการต้องซื้อวัตถุดิบในการทำหมูปิ้งจำนวน 1,500 บาท/วัน แต่กว่ากิจการจะได้รับเงินสดเป็นค่าหมูปิ้งทั้งหมดก็อีก 1 วัน
จะเห็นได้ว่า เมื่อพิจารณาเฉพาะวัตถุดิบ ร้านค้าหมูปิ้งนี้จะมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนอย่างน้อยที่สุดจำนวน 1,500 บาท
ดังนั้น หากเจ้าของร้านหมูปิ้งมีเงินทุนของตัวเองจำนวน 1,500 บาท แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่น เช่น เจ้าหนี้นอกระบบ สถาบันการเงิน ธนาคาร เป็นต้น
“หากเราใช้สูตรคำนวณข้างต้น”
เงินทุนหมุนเวียน = ลูกหนี้การค้า + สต๊อคสินค้า/วัตถุดิบ – เจ้าหนี้การค้า
เงินทุนหมุนเวียน = 0 + 1,500 – 0
การคำนวณหา “ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน” เราสามารถคำนวณหาความต้องการเงินทุนหมุนเวียนได้หลายวิธี ได้แก่
1. สูตรเงินทุนหมุนเวียน (ซึ่งจะกล่าวต่อไป)
เงินทุนหมุนเวียน = ลูกหนี้การค้า + สินค้าคงเหลือ – เจ้าหนี้การค้า
2. วงจรเงินสด (Cash Conversion Cycle)
3. ประมาณการงบกระแสเงินสด (Cash Flow Projection)
ซึ่งแต่ละวิธีจะให้หาค่าความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่ใกล้เคียงกัน ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงเฉพาะการใช้สูตรเงินทุนหมุนเวียน
เงินทุนหมุนเวียน = ลูกหนี้การค้า + สินค้าคงเหลือ – เจ้าหนี้การค้า
สินค้าคงเหลือ หรือสินค้าคงคลัง (Inventory) หรือที่นิยมเรียกว่า สต๊อก (Stock) ประกอบด้วย สต๊อกวัตถุดิบ (Raw Materials), งานระหว่างทำ (Work in Process), และสต๊อกสินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods)
ทั้งนี้ กิจการซื้อมาขายไปหรือพาณิชยกรรมมีเฉพาะสต๊อกสินค้าสำเร็จรูปเท่านั้น ส่วนกิจการแปรรูปหรือผลิตหรืออุตสาหกรรมก็จะมีสต๊อกวัตถุดิบและงานระหว่างทำเพิ่มขึ้นมา หรือ เงินทุนหมุนเวียน = ลูกหนี้การค้า + (สต๊อกวัตถุดิบ + งานระหว่างทำ + สต๊อกสินค้าสำเร็จรูป) – เจ้าหนี้การค้า
ลูกหนี้การค้า = ยอดขายต่อวัน (บาท/วัน)* สัดส่วนการขายเชื่อ (%) * ระยะเวลาเก็บหนี้ลูกหนี้การค้า (วัน)
สต๊อกวัตถุดิบ = ต้นทุนขายต่อวัน (บาท/วัน) * ระยะเวลาเก็บวัตถุดิบ (วัน)
งานระหว่างทำ = ต้นทุนขายต่อวัน (บาท/วัน) * ระยะเวลางานระหว่างทำ (วัน)
สต๊อกสินค้าสำเร็จรูป = ต้นทุนขายต่อวัน (บาท/วัน) * ระยะเวลาเก็บสินค้าสำเร็จรูป (วัน)
เจ้าหนี้การค้า = ต้นทุนขายต่อวัน (บาท/วัน)* สัดส่วนการซื้อเชื่อ (%) * ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า (วัน)
ตัวอย่าง ตัวอย่างที่ 1 ร้านขายหมูปิ้ง (จากตัวอย่างร้านหมูปิ้งข้างต้น)
ลูกหนี้การค้า = ไม่มี เพราะขายหมูปิ้งเป็นเงินสดทั้งหมดในแต่ละวัน = 3,000 บาท/วัน * 0% * 0 วัน = 0 บาท
สต๊อกวัตถุดิบ = 1,500 บาท/วัน * 0 วัน = 0 บาท
งานระหว่างทำ = 1,500 บาท/วัน * 1 วัน = 1,500 บาท (หมูหมักยังไม่ปิ้ง จึงยังไม่เป็นสินค้าสำเร็จรูป ปิ้งแล้วจึงจะเป็นสินค้าสำเร็จรูป)
สต๊อกสินค้าสำเร็จรูป = 1,500 บาท/วัน * 0 วัน = 0 บาท
เจ้าหนี้การค้า = ไม่มี เพราะซื้อวัตถุดิบเป็นเงินสดทั้งหมดในแต่ละวัน = 3,000 บาท/วัน * 0% * 0 วัน = 0 บาท
เงินทุนหมุนเวียน = ลูกหนี้การค้า + (สต๊อกวัตถุดิบ + งานระหว่างทำ + สต๊อกสินค้าสำเร็จรูป) – เจ้าหนี้การค้า
เงินทุนหมุนเวียน = 0 + (0 + 1,500 + 0) – 0
เงินทุนหมุนเวียน = 1,500
ข้อมูลจาก : ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)