โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุยังแรง แนะสานความร่วมมือ ญี่ปุ่น ต่อยอดสินค้าและบริการตลาดสังคมสูงอายุ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มุ่งส่งเสริมสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศ ขยายช่องทางการตลาดสินค้าและบริการเพื่อเจาะตลาดเฉพาะ หรือ Niche Market รวมทั้งแสวงหาช่องทางตลาดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ล่าสุดได้เปิดเผยรายงานจากสำนักงานตัวแทนส่งเสริมการค้า ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ว่า ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง และมีการขยายตัวสูง เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อต้นปี 2018 กลุ่มผู้ที่มีอายุสูงกว่า 75 ปี มีจำนวนมากขึ้น และมีจำนวนมากกว่าผู้ที่มีอายุระหว่าง 65 – 74 ปี แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุขั้นปลาย

ปัจจุบันผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวมากขึ้น มีการคาดการณ์ว่ากลุ่มผู้สูงอายุขั้นปลายจะเพิ่มจำนวนขึ้น เฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 หมื่นคน และในปี 2065 คาดว่าจะมีผู้ที่มีอายุสูงกว่า 65 ปี 1 คนในประชากรทุก 2.6 คน และผู้มีอายุสูงกว่า 75 ปี 1 คน ในประชากรทุก 3.9 คน

“เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นจะพึ่งพากลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุ ประมาณการว่า ในปี 2030 การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีอายุสูงกว่า 60 ปี จะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 47 ของมูลค่าการบริโภคโดยรวมของญี่ปุ่น ประกอบกับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลจะเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการต้องปรับเป้าหมายการตลาดตามลักษณะการจ่ายของแต่ละกลุ่มด้วย รายงานของ Mizuho Corporate Bank ระบุมูลค่าคาดการณ์สินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุในปี 2025 ว่าจะสูงถึง 101.3 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 30 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 61 จากในปี 2007 ซึ่งเป็นปีที่ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ”

สินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจด้านการแพทย์และเภสัชภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย การบริการทางการแพทย์-พยาบาล เภสัชภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และสถานพยาบาล ธุรกิจด้านการดูแลผู้สูงอายุ (Elderly Care) ประกอบด้วย การให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน สถานดูแล และ Day Care Center และธุรกิจสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ประกอบด้วย สินค้าและบริการเกี่ยวกับอาหาร เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องแต่งกาย และสันทนาการ

นอกจากนี้ สำนักงานตัวแทนส่งเสริมการค้า ณ เมืองฮิโรชิมา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาครัฐของญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการจัดฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุในลักษณะ On-the-job training ให้แก่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ตลอดจนยังมีแผนการช่วยเหลือเพื่อจัดตั้งสถาบันอบรมการดูแลผู้สูงอายุและสถานดูแลผู้สูงอายุด้วย

“ธุรกิจด้านการดูแลผู้สูงอายุเป็นโอกาสใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงทั้งในญี่ปุ่นและประเทศในภูมิภาคเอเชียซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยญี่ปุ่นนับเป็นประเทศแนวหน้าของการพัฒนาสินค้าและบริการสำหรับตลาดสังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการศึกษารูปแบบการพัฒนาและดำเนินธุรกิจแขนงนี้ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันอันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างบุคลากรไทยซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการส่งเสริมธุรกิจนี้”

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือ โทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169