โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

‘กรมเจรจาฯ’ ปลื้มเกษตรกรภาคเหนือตอนล่างใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างรายได้ขยายส่งออกตลาดโลก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรภาคเหนือตอนล่าง จ.สโขทัย พบเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างรายได้ขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ เน้นยกระดับคุณภาพ มาตรฐานสินค้า เพิ่มการแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลาย สร้างแต้มต่อในการแข่งขันทางการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการผนึกกำลังของกรมฯ และสภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุโขทัย สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสุโขทัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ร่วมลงพื้นที่จัดสัมมนาและพบปะเกษตรกรภาคเหนือตอนล่าง ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2562 ณ จังหวัดสุโขทัย ภายใต้โครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี ครั้งที่ 4”

เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ เช่น อาเซียน จีน อินเดีย และญี่ปุ่น เป็นต้นรวมทั้งได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการตลาดมาเปิดเวทีติวเข้มวิเคราะห์สินค้า และแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ

การจัดงานครั้งนี้ได้รับความสนใจและตอบรับอย่างคับคั่งจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จากจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ โดยเฉพาะเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปกาแฟ ชาดอกกาแฟ ส้ม ละมุด และใบตองตานี

ซึ่งผู้ผลิตหลายรายมีศักยภาพ สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) สร้างรายได้และขยายการส่งออกไปต่างประเทศ มีการพัฒนาสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การรักษาคุณภาพ มาตรฐานสินค้า สร้างเอกลักษณ์สินค้าในพื้นที่ มีการเสริมนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ เช่น การปลูกกาแฟให้มีกลิ่นทุเรียน มีความหวานของน้ำตาลฟรุตโตส และคั่วมือ พร้อมเชื่อมโยงกิจท่องเที่ยว ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคผู้รักสุขภาพ มีความพร้อมที่จะส่งออก ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ระยะยาว

ด้าน นางสาวบุณิกา แจ่มใส อำนวยการสำนักงานพัฒนาความพร้อมทางการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า กรมเจรจาฯ ได้ร่วมกับ สภาเกษตรฯ ลงพื้นที่ จ.สุโขทัย ครั้งที่ 4 ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้ประโยชน์จาก FTA โครงการครั้งนี้มุ่งเน้นในเรื่องของ สมุนไพร ผลไม้แปรรูป อาหารสุขภาพ โดยเฉพาะ จ.สุโขทัยขึ้นชื่อในเรื่องของผลไม้

ซึ่งครั้งนี้ได้ลงพื้นที่ บ้านห้วยตม ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย พบว่ามีเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนเพาะปลูกกาแฟสายพันธ์โรบัสต้า ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าของ จ.สุโขทัย มีรสชาติละมุน โดยแหล่งเพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ใต้ ต้นทุเรียน ต้นลองกอง ทำให้ได้รสชาติกาแฟที่หวานกว่าปกติที่ ซึ่งถือเป็นความโดดเด่นเฉพาะพื้นที่

กรมเจรจาฯ ได้มองเห็นถึงความพิเศษของผลิตภัณฑ์การเกษตรในพื้นที่จึงได้ให้ความรู้แก่เกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลู เก็บผลผลิต การแปรรูป ไปจนถึงช่องทางการตลาด ซึ่งปัจจุบันเองเกษตรกรก็ได้มีการพัฒนาองความรู้มองเห็นถึงคุณภาพเป็นหลัก เพื่อที่ให้สินค้าดังกล่าวมีความสามารถในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้

ทั้งนี้การผลิตสินค้าใดๆ ก็ตามจำเป็นต้องมีตราสินค้าหรือสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสทางการค้า ทางกรมเจรจาฯ และสภาเกษตรฯ จึงได้รวมมือกันแนะนำเกษตรกรให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ทาง กรมเจรจาฯ ได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 18 ประเทศ ส่งผลให้กำแพงภาษีลดลงซึ่งจะเอื้อประโยชน์อย่างมากแก่การทำการค้า นางสาวบุณิกา กล่าว

ทั้งนี้ ยังได้ลงพื้นที่พบหารือกับเกษตรกรผู้ผลิตส้มปลอดสารพิษกลุ่มแม่สินพัฒนา อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่กว่า 17,000 ไร่ จำหน่ายส้มสด และแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม อาทิ สบู่ส้ม สเปรย์กันยุง น้ำหมักชีวภาพ ส้มผงแห้ง รวมถึงจับมือกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างทางเดินไม้ไผ่บนยอดต้นส้ม เปลี่ยนภาพลักษณ์สู่สวนส้มปลอดภัยไร้สารพิษ ถือเป็นจุดเช็คอินท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสุโขทัย

พร้อมกับพบปะกลุ่มเกษตรกรใบตองตานีคลองกระจง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกใบตองขนาดใหญ่ เน้นการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ แปรรูปผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายรูปแบบ จากทุกส่วนของต้นกล้วย ซึ่งส้มปลอดสารพิษ ใบตองตานี ละมุดของสุโขทัย อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ซึ่งจะช่วยให้สินค้าสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น เพราะมีเรื่องราวและคุณสมบัติพิเศษต่างจากผลไม้ชนิดเดียวกันที่ผลิตจากแหล่งอื่น

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยังเป็นการติดตามงานของกรมเจรจาฯ ที่ได้ดำเนินการร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้จุดประกายให้เกษตรกรเห็นโอกาสของการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยในการพบปะเกษตรกรครั้งนี้ พบว่า ผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์ประสบความสำเร็จ สามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรของตนในราคาสูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไปถึง 10 เท่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ยังเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นในตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เริ่มรวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น” นางอรมน กล่าว