โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ในอีก 5 ปี ข้างหน้ารถ “ฟู้ดทรัค” จะเพิ่มขึ้นอีก 2,500 คัน

ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ความสนใจทำธุรกิจ “ฟู๊ดทรัค” มากขึ้นทุกปี เพราะสามารถนำสินค้าไปจำหน่ายที่ใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น แหล่งชุมชน ตลาดนัด ลานหน้าห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ ที่สามารถนำรถฟู๊ดทรัคไปจอดได้สะดวก ซึ่งความนิยมเหล่านี้ได้กระจายออกไปสู่ภูมิภาคในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่อย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต หรือจังหวัดใหญ่ๆ ในภาคอีสานก็นิยมทำธุรกิจฟู้ดทรัคเช่นกัน

ธุรกิจ “ฟู้ดทรัค” มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมูลค่าตลาดฟู้ดทรัคอยู่ที่ประมาณ 1,350 ล้านบาท ทำให้ทราบว่ามีการขยายตัวตั้งแต่ปี 2559 คิดเป็นเกือบ 100 % ที่มีการลงทุนทางด้านธุรกิจฟู้ดทรัค ซึ่งทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมองว่า ภายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการเพิ่มขึ้นของรถฟู้ดทรัคอีก 2,500 คัน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 500 คัน จากเดิมที่มีเพียง 1,500 คัน ซึ่งนั่นหมายความว่าจะมีการลงทุนธุรกิจด้านนี้เพิ่มขึ้นอีกราว 2,500 ล้านบาท และเมื่อคำนวณเรื่องรายได้คาดว่าจะมีมูลค่าทางการค้ามากถึง 6,750 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมกับมูลค่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฟู้ดทรัค ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจรถยนต์ การเงิน ไอที รวมถึงการบริการที่มีราว 8 สาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ จะก่อเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศมากถึง 17,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว 

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดย อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ กล่าวว่า กรมฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญและโอกาสของอุตสาหกรรมฟู้ดทรัค และมองว่าจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ธุรกิจ แต่จะต่อยอดไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ร่วมกับ อุตสาหกรรมอาหารที่มีการแปรรูป ทำให้เกิดการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เป็นอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคได้ ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ได้มีการผลักดันประสานงานกับเครือข่ายในการยกระดับเป็น “อุตสาหกรรมฟู้ดทรัค” ซึ่งกำลังจะเป็นรูปเป็นร่างในอนาคตข้างหน้า

ดังนั้น ในการดำเนินการธุรกิจอุตสาหกรรมฟู้ดทรัค ภายใต้โครงการ เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรมในปี 2562 มีวัตถุประสงค์ คือ

1.ต้องการพัฒนาธุรกิจฟู้ดทรัคให้มีมาตรฐานทั้งในด้านความปลอดภัยและชีวอนามัย

2.เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจฟู้ดทรัคโดยการนำระบบดิจิทัลเทคโนโลยี และระบบการจัดการอุตสาหกรรมเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ

3.สร้างความตระหนักถึงโอกาสของธุรกิจฟู้ดทรัคและเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน

4.สร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศให้รู้จักธุรกิจฟู้ดทรัคซึ่งจะต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมได้ซึ่งจะมีการขยายโอกาสขยายตลาดไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ด้วย

ทั้งนี้ “โครงการเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรมฟู้ดทรัค” ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีความร่วมมือกับเหล่าพันธมิตรทั้งเครือข่ายที่เป็นฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ รวมถึงสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สถาบันอาหาร สมาคมแฟรนไชส์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานเอกชนที่มาช่วยร่วมดำเนินการด้วย

อุตสาหกรรมฟู้ดทรัค มีองค์ประกอบ 3 ประเภท ได้แก่

1.อาหารคาว ประมาณ 57 %

2.อาหารหวาน 14 %

3.เครื่องดื่ม 29 %

โดยอุตสาหกรรมนี้มีการกระจายออกสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ราว 70 % ที่เหลืออีก 30 % จะอยู่ในส่วนของภูมิภาคหรือต่างจังหวัด ซึ่งการลงทุนในธุรกิจฟู้ดทรัค รวมรถและอุปกรณ์ต่างๆ และเงินทุนหมุนเวียนจะใช้อยู่ประมาณ 1 ล้านบาท ผู้ประกอบการจะมีรายได้จากการทำธุรกิจฟู้ดทรัคโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 900,000 บาท/คัน/ปี หากธุรกิจนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นคาดว่ารายได้จะเพิ่มมากกว่านี้ด้วย

ในปี 2561 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ดำเนินกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายฟู้ดทรัค โดยจัดทำในลักษณะเครือข่ายเริ่มต้นที่กรุงเทพ ฯ และเชียงใหม่ ด้วยงบประมาณที่น้อยมาก หลังจากนั้นได้ร่วมกับสถาบันอาหาร เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจ จึงได้จัดทำโครงการพร้อมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักในหัวเมืองที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่

กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมมากถึง 164 ราย

เชียงใหม่ 94 ราย

โคราช 90 ราย

จากนั้นได้มีการจัดกิจกรรมกับทาง SME Development Bank ในเรื่องของเงินทุน 1 % และ 3 % รวมถึงเงินทุนหมุนเวียนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีดอกเบี้ยต่ำเพียง 4 %

ปัจจุบัน ไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่า 3 ล้านราย และอีกราว 2.6-2.7 ล้านราย จะเป็นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ ซึ่งธุรกิจฟู้ดทรัคนั้นอยู่ในภาคการค้าและบริการ เป็นที่มาของ 4 เรื่องมาตรฐาน หรือ Smart 4 Food Truck ที่สำคัญ คือ

1.มาตรฐานเกี่ยวกับคนที่ขายของบนรถฟู้ดทรัค โดยบูรณาการกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่สร้างมาตรฐาน โดยสร้างใบประกอบวิชาชีพ

2.มาตรฐานครัวบนรถฟู้ดทรัค บูรณาการกับสถาบันอาหาร ซึ่งเป็นสถาบันอิสระ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร และร่วมบูรณาการกับกรมอนามัย ในเรื่องสุขาภิบาลต่างๆ ทั้งอาหาร สิ่งแวดล้อม

3.มาตรฐานของรถฟู้ดทรัค ซึ่งร่วมกับสถาบันยานยนต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถาบันอิสระที่สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งต้องสร้างให้กรมการขนส่งทางบกยอมรับรถฟู้ดทรัคมีมาตรฐาน 

4.มาตรฐานตลาด โดยผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตทางกรมฯ จะมีโลโก้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มาตรฐานของ Smart 4 Food Truck

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น จึงพอที่จะทราบได้ว่าทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้ และพยายามหาทางช่วยเหลือด้านเงินทุนกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งในปี 2562 นี้ คาดว่าจะมีโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง