ธ.ก.ส. โชว์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ อำนวยสินเชื่อและเติมเงินช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกว่า 700,000 ล้านบาท
ธ.ก.ส. เผยการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร เพื่อยกระดับการเกษตรสร้างมูลค่าและพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการ SME เกษตร (SMAEs) เพื่อเป็นหัวขบวนช่วยเหลือด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรรายย่อย
สนับสนุนการสร้างโอกาสและความเสมอภาคของสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุน สร้างภูมิคุ้มกันและเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการสนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงาน น้ำ และภาคเกษตร
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการดำเนินงาน ธ.ก.ส.ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร โดยเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนเงินให้ความช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตร รวม 65,931 ล้านบาท ได้แก่
โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน จำนวน 149,949 ราย จำนวนเงิน 2,025 ล้านบาทการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อย จำนวน 4,092,247 ราย จำนวนเงิน 56,344 ล้านบาท โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 868,618 ราย จำนวนเงิน 7,562 ล้านบาท
อีกทั้งโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนรวม 48 โครงการ เป็นเงิน 247,840 ล้านบาท มาตรการลดดอกเบี้ยและพักชำระต้นเงินเป็นระยะเวลา 3 ปีให้แก่เกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคเกษตรตามแนวทางประชารัฐ จำนวน 2.91 ล้านราย มูลหนี้ 889,816 ล้านบาท มาตรการเกษตรประชารัฐลดต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร
ซึ่งเกษตรกรสามารถซื้อปัจจัยการผลิตผ่านบัตรเกษตรสุขใจแล้ว จำนวน 629,774 ราย วงเงิน 14,300 ล้านบาท ธ.ก.ส. ได้พัฒนาผู้ประกอบการ SME เกษตร จำนวน 9,600 ราย สนับสนุนสินเชื่อ SMAEs ไปแล้ว จำนวน 336,034 ราย วงเงิน 135,696 ล้านบาท และได้ช่วยเหลือด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วกว่า 300,000 ราย
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนนโยบายสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โดยพัฒนา ธ.ก.ส. A-Mobile ซึ่งมีเกษตรกรดาวน์โหลดแล้วกว่า 600,000 ราย ปริมาณธุรกรรมมีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 1,000,000 รายการต่อเดือน มีร้านค้า QR Code รองรับกว่า 17,000 ร้านค้า อีกทั้ง ธ.ก.ส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำบัตร Smart Card สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กว่า 1,000,000 ใบ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความซ้ำซ้อนในการจ่ายเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ผลักดันสู่สังคมไร้เงินสด ตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment
การสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้กับสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ได้แก่
1) ด้านมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่าน 3 มาตรการ 9 โครงการ ได้แก่ มาตรการพัฒนาตนเองโดยการให้ความรู้ทางด้านการเงิน/การผลิต/การตลาด จำนวน 2.76 ล้านราย มาตรการลดภาระหนี้สินนอกระบบ 217,852 ราย เป็นเงิน 13,563.11 ล้านบาท กรณีรายที่มีหนี้ที่เป็นภาระหนัก ธ.ก.ส. ได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว 661,022 ราย มูลหนี้ 129,324 ล้านบาท และมาตรการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ สามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปี พ้นเส้นความยากจนจำนวนกว่า 800,000 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 51 และมีรายได้เพิ่มเกินกว่า 100,000 บาทต่อปี จำนวน 29,911 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของผู้เข้าร่วมโครงการ
2) ด้านการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเข้าถึงแหล่งทุน ธ.ก.ส.อำนวยสินเชื่อให้กับสถาบันเกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรรายย่อยไปแล้วกว่า 624,000 ล้านบาท
3) ด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการผลิตผ่านโครงการประกันภัยพืชผล ทางการเกษตร ประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 1.92 ล้านราย พื้นที่ 27.96 ล้านไร่ และได้ขยายผลไปยังพืชอื่นๆ ได้แก่ ข้าวโพด 82,087 ราย พื้นที่ 717,541 ไร่ โคนม 4 ชุมชน จำนวน 156 ตัว และลำไย 1,052 ราย และด้านการสร้างหลักประกันชีวิตผ่านโครงการกองทุนทวีสุข 1.55 ล้านรายและเงินฝากสงเคราะห์ชีวิต 2.3 ล้านกรมธรรม์
4) ด้านพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ผ่านโครงการชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง 7,927 ชุมชน ยกระดับเป็นชุมชนอุดมสุข 800 ชุมชน สนันสนุนศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง 436 ศูนย์ และร่วมกับเครือข่ายคัดเลือกชุมชนที่มีความพร้อม ด้านทรัพยากรธรรมชาติที่งดงามและการบริหารจัดการ ต่อยอดสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยว 35 ชุมชน มีนักท่องเที่ยวเพิ่มสะสม 30,000 ราย ชุมชนมีรายได้รวมกว่า 14 ล้านบาท อีกทั้งสนับสนุนการออมเงินให้กับเยาวชนในโครงการโรงเรียนธนาคาร 2,217 แห่ง ซึ่งมีนักเรียนร่วมโครงการ 782,916 ราย เงินฝากรวม 1,014 ล้านบาท
สำหรับการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการสร้างการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GO Green) โดย ธ.ก.ส.มุ่งตอบโจทย์ในการดูแลสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ 318 ชุมชน การจัดทำโครงการธนาคารต้นไม้ โดยมีชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,831 ชุมชน จำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้นในประเทศ 11.8 ล้านต้น และการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยการสร้างฝายมีชีวิต เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพด้านการเกษตร จำนวน 6,137 ฝาย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ร่วมกับสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเมินความสำเร็จด้านผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในการเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายของรัฐผ่านระบบ ธ.ก.ส. โดยนำข้อมูลโครงการนโยบายรัฐที่สำคัญตามมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2559 – 2561 จำนวน 11 โครงการ และเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 1,223 ตัวอย่าง กระจายไปในแต่ละภูมิภาค
ซึ่งผลประเมินโดยสรุปในภาพรวม ลูกค้า ธ.ก.ส. ทั้งสหกรณ์เกษตร ผู้ประกอบการ SME เกษตร และเกษตรกรรายย่อย ประสบความสำเร็จอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การสร้างช่องทางการจัดจำหน่าย การลดต้นทุนการผลิต การสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาด การเพิ่มแหล่งวัตถุดิบ และการพัฒนาคุณภาพผลผลิต
โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME เกษตร ปรากฎผลกระทบเชิงบวกที่สำคัญ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตลดลง มีอำนาจต่อรองมากขึ้น มีทักษะในการประกอบอาชีพและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินโครงการนโยบายรัฐของ ธ.ก.ส. ยังส่งผลกระทบเชิงบวกด้านสังคมต่อลูกค้า ธ.ก.ส. ในเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยที่ดีขึ้น โอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินของรัฐที่เพิ่มสูงขึ้น และการเข้าถึงความรู้ทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น นายอภิรมย์กล่าว