เป็นไปตามคาดในโลกยุคการค้าออนไลน์ ตำแหน่งงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอี-คอมเมิร์ชมีรายได้ดีสูงสุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น
สายงานอีคอมเมิร์ซ เป็นสายงานเดียวที่ติด Top 5 เงินเดือนสูงในทุกระดับงาน ขณะที่ งานขาย งานบริการลูกค้า พัฒนาธุรกิจ งานไอที-อีคอมเมิร์ซ เป็นสายงานที่ต้องการมากที่สุดในปี 2562 จากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ธุรกิจต่างๆ จึงต้องปรับกลยุทธ์ให้ก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
เปิดแฟ้มส่องดูสายงานที่มีเงินเดือนสูงสุด
จากรายงานอัตราเงินเดือนของพนักงานไทยประจำปี 2561 โดยจ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ที่ได้มีสำรวจช่วงเงินเดือนของพนักงานในแต่ละระดับ พบว่า ไม่ว่าระดับเจ้าหน้าที่ หัวหน้างาน ผู้จัดการ และผู้บริหาร ยังไม่แตกต่างไปจากปีก่อน แต่ที่น่าจับตามองมากที่สุด ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ บริการด้านการแพทย์ และวิศวกรรม ซึ่งเป็นสายงานที่มีเงินเดือนมากที่สุดในทุกระดับงาน
โดยเฉพาะ อีคอมเมิร์ซ เป็นสายงานเดียวที่ติด Top 5 เงินเดือนสูง ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ ด้านพัฒนาธุรกิจ และพัฒนาซอล์ฟแวร์ มีเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ย 21,787 บาท ระดับหัวหน้างาน 35,885 บาท และผู้จัดการ 55,738 บาท โดยเป็นเงินเดือนเริ่มต้นที่สูงที่สุดของระดับงาน ขณะที่ระดับผู้บริหารหากมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสายงานอาจได้รับเงินเดือนมากถึง 145,000 บาท
ส่วนงานบริการด้านการแพทย์ อาทิ เภสัชกร แพทย์ฝึกหัด พยาบาล เจ้าหน้าที่เทคนิคทางการแพทย์ และสายงานวิศวกรรม ที่ติดอันดับสายงานเงินเดือนสูงในทุกระดับงาน จะมีอัตราเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ยเกือบ 2 หมื่นบาท สำหรับระดับเจ้าหน้าที่ และมีเงินเดือนมากสุดถึง 140,000 บาท ในระดับผู้บริหาร
10 สายงานที่ต้องการมากสุดปี 2562
นอกจากอัตราเงินเดือนเฉลี่ยของแต่ละสายงานแล้ว ยังได้เปิดเผยถึง 10 สายงานที่เป็นที่ต้องการในตลาดงานประจำปี 2562 อีกด้วย โดยอันดับ 1 ได้แก่ งานขาย งานบริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ 17% ตามมาด้วยอันดับ 2 งานไอที-อีคอมเมิร์ซ 12%, 3 งานวิศวกรรม 10%, 4 งานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล 9%, 5 งานบัญชี 8%, 6 งานการตลาดและงาน PR 8%, 7 งานธนาคาร งานการเงิน 5%, 8 งานท่องเที่ยว งานโรงแรม งานบริการอาหารและเครื่องดื่ม 5%, 9 งานขนส่ง 4% และ 10. งานการผลิต (4%)
คุณวรวุฒิ วาริการ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงผลการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวว่า ทิศทางสายงานอีคอมเมิร์ซจะเติบโตโดดเด่น ทั้งด้านตลาดงานที่มีความต้องการจ้างงานสูงในทุกตำแหน่ง และผู้ประกอบการเองก็พร้อมให้ค่าตอบแทนในอัตราที่ดีเช่นกัน เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากยิ่งขี้น ธุรกิจต่างๆ จึงต้องปรับกลยุทธ์ให้ก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2561 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ที่พบว่า 1 ใน 5 กิจกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุดของคนไทย คือการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ โตต่อเนื่องกันถึง 2 ปีซ้อน โดยการเติบโตดังกล่าว ไม่เพียงสร้างมูลค่าแก่อีคอมเมิร์ซไทยและผู้ประกอบการ แต่ยังเพิ่มโอกาสการจ้างงาน ด้วยการเกิดตำแหน่งงานใหม่ที่จะถูกป้อนเข้าตลาด เช่น งานพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแพลตฟอร์มเพื่อการซื้อขายออนไลน์ งานวางแผนร้านค้าออนไลน์ งานโลจิสติกส์ออนไลน์ งานการตลาดดิจิทัล รวมทั้งฝ่ายขายและงานวิเคราะห์ข้อมูลผลิตภัณฑ์และผู้บริโภค ด้านสายงานการผลิต เช่น งานผลิตทั่วไป งานพัฒนาสินค้า งานตรวจสอบคุณภาพ รวมถึงงานวางแผนและควบคุมการผลิต เป็นต้น ที่มาแรงในปีนี้
โดยแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้ประกอบการในไทยต่อการก้าวสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขับเคลื่อนให้เกิดผลผลิตรองรับความต้องการสินค้าและบริการใหม่ๆ ของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป นำไปสู่การสร้างอาชีพใหม่ ธุรกิจใหม่ รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่
5 ทักษะที่ผู้หางานยุคดิจิทัลต้องมี
นอกจากความรู้ความสามารถที่ตรงสายงานจะมีผลต่ออัตราเงินเดือนแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้หางานในยุคดิจิทัลไม่ควรมองข้าม ก็คือการติดอาวุธลับสร้างความได้เปรียบ โดย 5 ทักษะที่ผู้หางานยุคดิจิทัลต้องมี ได้แก่ 1. มีทักษะรอบด้าน ภาษาดีมีความรู้เรื่องดิจิทัล 2. เข้าใจและจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ เสริมความรู้ด้านดิจิทัล 3. ใช้เทคโนโลยีเป็น มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ 4. เชี่ยวชาญในสายงาน ต่อยอดในสายงานให้แตกแขนง ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง และ 5. มีทัศนคติเชิงบวก ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีความโดดเด่นและสร้างมูลค่าที่เหนือกว่าผู้สมัครงานคนอื่นๆ ได้