โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

สค. เสริมกลยุทธ์ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยก้าวสู่ความเป็นเลิศ

ปัจจุบันผู้ประกอบการต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่มีความผันผวน การแข่งขันที่รุนแรง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมถึงความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรตื่นตัวและเร่งพัฒนาศักยภาพ สร้างมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้า

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญด้านการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดงานสัมมนา “ยกระดับมาตรฐานโลจิสติกส์ไทย สู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน” เพื่อแนะแนวทางในการสร้างโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์นำไปประยุกต์ใช้ รวมถึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดรางวัลผู้ประกอบการที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ประจำปี 2562 (Excellent Logistics Management Award 2019) หรือ ELMA 2019

ในงานมีผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ระดับประเทศ และผู้ที่ได้รับรางวัลผู้ประกอบการที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ (ELMA) ในปีก่อน ๆ มาร่วมแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยมีผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ให้ความสนใจเข้าฟังเป็นจำนวนมาก

ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท V-SERVE GROUP และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ยกระดับมาตรฐานโลจิสติกส์ไทยในยุคดิจิทัล ติดปีกสู่เวทีโลก” โดยมีแนวคิดที่น่าสนใจว่า “ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการโลจิสติกส์จำเป็นต้องตามให้ทัน และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงานที่เหนือกว่าคู่แข่ง”

นอกจากนี้ ดร.ธนิต ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “การบริหารจัดการในองค์กรต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ความผิดพลาดเป็นศูนย์ หากองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากร สิ่งที่จะทำให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น คือ การถ่ายทอดงานอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนด และควรจัดทำคู่มือการทำงาน เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้กับองค์กร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ”

การสัมมนาในหัวข้อแรก มีวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ได้แก่ นายสุภาพ ตั้งตรัยรัตนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพคลังเอกสาร จำกัด ผู้ได้รับรางวัล ELMA ประจำปี 2561 นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับรางวัล ELMA ประจำปี 2559 และ ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และตัวแทนคณะกรรมการพิจารณารางวัล ELMA โดยหัวข้อที่สัมมนา คือ “เปลี่ยนกระบวนทัศน์ สร้างนวัตกรรม เพิ่มคุณภาพการทำงานและตอบโจทย์ลูกค้า” มีใจความสำคัญว่า “สิ่งที่จะนำองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศคือนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผู้ประกอบการควรนำนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้การบริหารองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น และควรพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีความเหมาะสม ซึ่งบางครั้งต้องใช้เงินลงทุนเพิ่ม เพื่อให้ได้บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า และเป็นการสร้างแต้มต่อเหนือคู่แข่งขัน นำมาซึ่งความได้เปรียบทางธุรกิจ”

เข้าสู่ช่วงที่ 2 ของการสัมมนา ในหัวข้อ “ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ เพิ่มโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขัน” โดยมี นายวิสาร ฉันท์เศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมเด็จ เซอร์วิส จำกัด ผู้ได้รับรางวัล ELMA ประจำปี 2561 นายอุดม ศรีสงคราม กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี. คาร์โก จำกัด ผู้ได้รับรางวัล ELMA ประจำปี 2560 และ ดร.ชุมพล สายเชื้อ เลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย และยังเป็นตัวแทนคณะกรรมการพิจารณารางวัล ELMA ให้ข้อคิดเห็นว่า “ปัจจุบันผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต้องเตรียมพร้อมรับมือ ปรับกลยุทธ์ ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้องค์กรสามารถก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและทำให้ธุรกิจเติบโตได้ ซึ่งวิสัยทัศน์ของผู้บริหารก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรมองหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจอยู่เสมอ”

สำหรับช่วงสุดท้ายของการสัมมนา ได้รับเกียรติจาก นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนวรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาชเคม โลจิสติกส์ แมเนจเมนท์ จำกัด ผู้ได้รับรางวัล ELMA ประจำปี 2551, 2552, 2554 นายชัยยงค์ เทียนวุฒิชัย นายกสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย และตัวแทนคณะกรรมการพิจารณารางวัล ELMA และ นายจิรภัทร ธนโชติกีรติ ตัวแทนคณะกรรมการพิจารณารางวัล ELMA ให้มุมมองในหัวข้อ “พัฒนาคน พัฒนาองค์กร เคล็ดลับสู่ความเป็นเลิศ” ว่า “บุคลากรนับเป็นปัจจัยสำคัญในธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กร ดังนั้น การพัฒนาคนและการพัฒนาองค์กรควรทำให้ตรงจุด ปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม โดยอาจมี KPI (Key Performance Indicators) เป็นตัวชี้วัด และมีรางวัลเป็นแรงจูงใจ เพื่อให้การดำเนินงานในองค์กรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้แล้ว การสมัครประกวดรางวัล ELMA เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย โดยผู้เข้าประกวดทุกรายจะได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ เพื่อทราบถึงจุดเด่นของตน และสิ่งที่ควรปรับปรุง นับเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการให้เกิดการตื่นตัวที่จะพัฒนาธุรกิจ เพื่อพาธุรกิจก้าวสู่ความเป็นเลิศได้อย่างยั่งยืน