โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ผลไม้ไทย มีแนวโน้มสดใส หลัง เอฟทีเอ ดันส่งออกตลาดโลก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยผลจากเอฟทีเอช่วยให้การส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดโลกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขยายตัวถึงร้อยละ 3,341 เมื่อเทียบกับก่อนที่ไทยจะมีเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียนในปี 2535 นำเงินเข้าประเทศถึง 2.66 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกระตุ้นให้ชาวสวนผลไม้ไทยปรับตัวเข้ากับการค้ายุคใหม่ ขยายโอกาสการส่งออกผลไม้โดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออย่างเต็มที่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลไม้ไทยกำลังมีอนาคตที่สดใส เนื่องจากความมีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านรสชาติจึงได้รับความนิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 การส่งออกผลไม้ของไทยสู่ตลาดโลกมีมูลค่า 2,656 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 17.05 โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน และจีน รวมมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยไปอาเซียนและจีนมีมูลค่าสูงถึง 2,132 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 80 ของการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดโลก โดยผลไม้ไทยที่กำลังเนื้อหอมคือกลุ่มผลไม้เมืองร้อน เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด เป็นต้น ซึ่งไทยครองความเป็นผู้นำการส่งออกอันดับต้นของโลก

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกผลไม้ที่เพิ่มขึ้นมีความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการขยายตัวของการส่งออกผลไม้ไทย เนื่องจากภายใต้เอฟทีเอที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และล่าสุดฮ่องกง (อยู่ระหว่างรอการมีผลบังคับใช้) นั้น จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกงได้ยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรของการนำเข้าสินค้าผลไม้สด ผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้งจากไทยแล้ว ขณะนี้จึงเหลือเพียงบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สปป. ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ที่ยังเก็บภาษีศุลกากรการนำเข้าผลไม้บางชนิดจากไทย เช่น ญี่ปุ่นเก็บภาษีส้มในอัตรา 4% เกาหลีใต้เก็บภาษีมะม่วง 24% ทุเรียน 36% อินเดียเก็บภาษีส้ม 5% มาเลเซีย กัมพูชา และ สปป. ลาวเก็บภาษีมะม่วง มังคุด ทุเรียน ในอัตรา 5% เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยสู่ตลาดโลกในปี 2561 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลง FTA ฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 3,341 โดยหากแยกรายตลาด จะพบว่า ในปี 2561 ไทยมีการส่งออกผลไม้ไปอาเซียน เป็นมูลค่า 1,123 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6,429 เมื่อเทียบกับปี 2535 ก่อนที่สมาชิกอาเซียนจะลดภาษีนำเข้าผลไม้จากไทยภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) นอกจากนี้ ในปี 2561 ไทยมีการส่งออกผลไม้ไปจีน เป็นมูลค่า 1,009 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2,816 เมื่อเทียบกับปี 2545 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่จีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าผลไม้จากไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) สอดคล้องกับสถิติของกรมการค้าต่างประเทศ ที่พบว่าในปี 2561 สินค้าผลไม้ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ ในการส่งออกเป็นอันดับต้น

นางอรมน เสริมว่า การค้าผลไม้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยสาเหตุจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปัจจุบันหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับข้อได้เปรียบของผลไม้ไทยที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ จึงถือเป็นโอกาสทองที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะขยายการส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ผลไม้ไทยครองใจผู้บริโภค เกษตรกรควรรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พัฒนาคุณภาพการผลิตตามความต้องการของตลาดที่ปัจจุบันนิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งสร้างเอกลักษณ์ด้วยการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) พัฒนาสร้างตราสินค้า หรือแบรนด์ของผลไม้เป็นของตนเอง เพื่อสร้างความแตกต่างจากผลไม้ของประเทศอื่น ตลอดจนปรับตัวให้เข้าสู่การค้ายุคใหม่โดยสร้างองค์ความรู้ทางด้านต่างๆ อาทิ การตลาดในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ให้สามารถครองตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มที่ให้กับสินค้าผลไม้ไทยได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอให้เต็มที่ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลง เอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือหมายเลข 02-507-7555