โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ตลาดผลิตเมล็ดกาแฟยังเป็นโอกาสที่สดใสของไทย

ตลาดการผลิตเมล็ดกาแฟเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาขยายตัว 1.06 % โดยมียอดการส่งออกสูงถึง 64 % เป็นผู้ส่งออกลำดับที่ 6 ของโลก

ปัจจุบัน กาแฟถือได้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ประชาชนนิยมบริโภคในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้กาแฟของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560/2561มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 1.06% โดยประเทศที่มีความต้องการกาแฟมากที่สุด ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา บราซิล ญี่ปุ่น ตามลำดับ รวมคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 64% ของความต้องการทั้งหมด

ในขณะที่ผลผลิตกาแฟของโลกกลับมีอัตราการขยายตัวลดลงในปี2560/2561 อยู่ที่ 1.24% ซึ่งพื้นที่ปลูกกาแฟที่สำคัญของโลก ได้แก่ บราซิล เวียดนาม โคลัมเบีย อินโดนีเซีย ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วน 66% ของผลผลิตทั้งหมด จะเห็นได้ว่าความต้องการใช้กาแฟมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลมาจากความนิยมในการบริโภคกาแฟที่เพิ่มสูงขึ้นแสดงถึงโอกาสในตลาดกาแฟโลกที่ผู้ผลิตกาแฟไทยสามารถเข้าไปเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกเมล็ดกาแฟไปยังสหรัฐอเมริกาสูงสุด โดยปี 2561 มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 74%

นอกจากนี้ไทยยังเป็นผู้ส่งออกกาแฟสำเร็จรูปเป็นลำดับ 6 ของโลก สำหรับประเทศไทยมีความต้องการใช้เมล็ดกาแฟในประเทศ ปี 2561 อยู่ที่ 95,000 ตันต่อปี แต่ภายในประเทศผลิตได้เพียง 23,617 ตัน จึงต้องนำเข้าถึง 68,616 ตัน หรือคิดเป็น 72% เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ จะเห็นได้ว่าตลาดกาแฟทั้งในประเทศและต่างประเทศยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก หากผู้ผลิตสามารถพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิต รวมทั้งพัฒนาคุณภาพกาแฟให้มีมาตรฐานแล้ว จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายโอกาสทางการตลาดได้เพิ่มขึ้น

การเติบโตของธุรกิจ

จำนวนธุรกิจและมูลค่าทุน ณ 31 ธันวาคม 2561 ธุรกิจผลิตกาแฟ ที่ดำเนินกิจการอยู่ จำนวน 258 ราย คิดเป็น 0.04% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ มูลค่าทุน 3,675.43 ล้านบาท คิดเป็น 0.02% ของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 197 ราย คิดเป็น 76.36% มีมูลค่าทุน 3,460.79 ล้านบาท คิดเป็น 94.16% โดยธุรกิจนี้มีมูลค่าทุนไม่เกิน 5 ล้านบาทสูงถึง 90.69% การเพิ่มทุนของธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องใน โดยในปี 2561 เพิ่มทุน 130.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.46% เมื่อเทียบกับปี 2560 การจัดตั้งธุรกิจผลิตกาแฟในปี 2561 มีจำนวน 57 รายเพิ่มขึ้น 37.71% เมื่อเทียบกับปี 2560 ในส่วนของมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในปี 2561 มีมูลค่า 89 ล้านบาท ลดลง 70.72% เมื่อเทียบกับปี 2560

ในปี 2561 ธุรกิจผลิตกาแฟมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการบริโภคกาแฟในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการขยายตัวของธุรกิจร้านขายกาแฟที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในเขตเมืองและต่างจังหวัดผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สถานีบริการน้ำมัน และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจผลิตกาแฟมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้ผลิตเริ่มเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการวิจัยทดลองรวมทั้งนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพและมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่มากยิ่งขึ้น

แนวโน้มธุรกิจ

แนวโน้มของธุรกิจผลิตกาแฟยังคงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก หากผู้ผลิตพัฒนาคุณภาพของผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆด้วยรสชาติของกาแฟไทยที่มีเอกลักษณ์และเป็นสินค้าที่ให้คุณค่าแก่สังคม ก็จะ สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับกาแฟได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้ผลิตกาแฟไทยต้องปรับตัวและพัฒนาประกอบด้วย

เร่งผลิตกาแฟคุณภาพ

ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่เพาะปลูกกาแฟของไทยทำให้ ปริมาณผลผลิตมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอ และยากต่อ การเร่งผลผลิตในช่วงเวลาสั้น ผู้ผลิตกาแฟไทยควรหัน มาเน้นการพัฒนาคุณภาพและรสชาติแทนการเพิ่ม ปริมาณ เพื่อเจาะตลาดกาแฟพิเศษ สำหรับผู้บริโภคที่มี ความชื่นชอบและให้ความสำคัญกับรสชาติและ Storytelling ของเมล็ดกาแฟที่มาจากแต่ละพื้นที่ เพาะปลูก ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับกาแฟไทยและ สามารถขายได้ในราคาสูง อีกทั้งการสนับสนุนให้ เกษตรกรผลิตกาแฟที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ความมีเอกลักษณ์ จะสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าและ เชื่อมโยงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อีกด้วย

พัฒนาผู้ผลิตกาแฟ Fair Trade เพื่อตีตลาดโลก

ด้วยเทรนด์โลกที่ให้ความมสำคัญกับเครื่องหมาย Fair trade ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าสินค้าเป็นผลผลิตจากการค้าที่เป็นธรรม (ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค ผู้ผลิตและผู้ขายจะได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียม) หากกลุ่มผู้ส่งออกกาแฟได้รับเครื่องหมาย Fair trade จะสามารถเพิ่มกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญต่อสินค้าที่ให้คุณค่าแก่สังคม (Social Value) และง่ายต่อการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยส่งออกมากเป็นอันดันที่ 1 โดยในปี 2561 ไทยส่งออกกาแฟไปสหรัฐอเมริการวมมูลค่า30.69 ล้านบาท สูงขึ้นกว่า 74% ของตลาดส่งออกของไทย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า