โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กูรูแจงประเภทต้นไม้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4 กลุ่มที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ

กูรูแจงประเภทต้นไม้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4 กลุ่มที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ พร้อมแนะวิธีการประเมินมูลค่าต้นไม้ : เปรียบเทียบราคาตลาดเหมาะสม-สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงมากที่สุด รู้เขา - รู้เรา : รู้ประเภทต้นไม้ - รู้วิธีประเมิน ปลูกไม้ยืนต้นลงทุนไม่เสียเปล่า

ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกป่าและด้านประเมินราคาทรัพย์สิน แจงประเภทต้นไม้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4 กลุ่มที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ... โตช้ามีมูลค่ามาก พร้อมแนะวิธีการประเมินมูลค่าไม้ยืนต้น เปรียบเทียบราคาตลาดสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงมากที่สุด ล่าสุด กรมพัฒน์ฯ เร่งหารือสถาบันการเงินรับต้นไม้เป็นหลักประกันทางธุรกิจโดยเร็ว เชื่อ!!! รู้เขา - รู้เรา : รู้ประเภทต้นไม้ - รู้วิธีประเมิน ปลูกไม้ยืนต้นเป็นการลงทุนที่ไม่เสียเปล่า รู้หรือไม่? ไม้ไผ่...ก็ใช้เป็นหลักประกันได้นะ

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "หลังจากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้บังคับหลักประกัน สถาบันการเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ประเด็น "ต้นไม้มีมูลค่า ประเมินราคาอย่างไร" จำนวนทั้งสิ้น 3 ครั้ง โดยการอบรมฯ ดังกล่าว เน้นผลลัพธ์รู้ลึก..รู้จริง และเข้าใจถึงรายละเอียดปลีกย่อยสำหรับการนำต้นไม้มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ

ประกอบด้วย 2 หัวข้อหลัก คือ 1) ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ 2) การประเมินมูลค่าต้นไม้ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการอบรมได้รับความรู้เชิงลึกจากกูรูเฉพาะด้าน ทำให้เข้าใจถึงแก่นหลักของการนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น"

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกป่า ผศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ หัวหน้าภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้คำอธิบายความหมายของคำว่า ไม้ยืนต้น ตามกฎกระทรวงพาณิชย์ว่า "คือต้นไม้ชนิดใดๆ ที่มีศักยภาพและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ การปลูกต้นไม้ถือเป็นการลงทุน และหากไม้ยืนต้นที่ปลูกมีอัตราการเจริญเติบโตช้า

การปลูกไม้ยืนต้นนั้นก็จะเป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างแรงจูงใจและต้องการกลไกทางการเงินเข้ามาช่วยสนับสนุน รวมทั้ง การปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมายให้การปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถตัด จำหน่าย ทำไม้ได้อย่างสะดวก การให้องค์ความรู้ทางวิชาการในเรื่องการปลูก การเลือกพันธุ์ไม้ และพื้นที่ปลูกก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ"

"ปัจจุบันมีการแยกประเภทพันธุ์ไม้ที่มีศักยภาพสำหรับปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ ตามโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นทุนระยะยาว โดยใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราการเติบโต รอบตัดฟัน และมูลค่าของเนื้อไม้มาใช้เพื่อแบ่งต้นไม้ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็ว รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ กลุ่มนี้จะมีมูลค่าต่ำ เช่น ยูคาลิปตัส สัตตบรรณ กระถินเทพา กระถินณรงค์ ฯลฯ

กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา กระบาก สะตอ ฯลฯ

กลุ่มที่ 3 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง ได้แก่ สัก ฯลฯ

กลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม มะค่าโมง ฯลฯ เป็นต้น"

"สำหรับต้นไผ่ในทางวิชาการไม่ถือว่าเป็นไม้ยืนต้น แต่ปัจจุบันมีการนำไม้ไผ่มาแปรรูปและทำประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ มากมาย ดังนั้น การนำไม้ไผ่มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจสามารถทำได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของคู่สัญญาระหว่างผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันที่จะตกลงกัน แต่ในมุมมองของไม้มีค่า "ไผ่" ถือเป็นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ"

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านประเมินราคาทรัพย์สิน นายไพรัช มณฑาพันธุ์ นายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย ได้กล่าวว่า "การประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นเพื่อรับเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้ไม้ยืนต้นสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันนั้น ก็เพื่อให้ "ต้นไม้" ซึ่งมีมูลค่าในตัวเองโดยไม่ถือเป็นส่วนควบของที่ดิน สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ

แต่เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าต้นไม้เป็นการเฉพาะ จึงต้องใช้หลักวิธีการประเมินทรัพย์สินอื่นที่เทียบเคียง โดยวิธีการประเมินทรัพย์สินที่เป็นมาตรฐานสากลโดยทั่วไปจะใช้หลัก IVSC (International Valuation Standards Council) แบ่งเป็น 3 วิธี ได้แก่"

"วิธีที่ 1 การประเมินโดยคิดจากมูลค่าต้นทุน (Cost Approach) คือ มูลค่าของไม้ยืนต้นจะเท่ากับผลรวมของต้นทุนทั้งหมดในการพัฒนาผลผลิต ได้แก่ ต้นทุนเริ่มเตรียมการ การพัฒนาดิน ค่ากล้าไม้ และต้นทุนอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยจ่าย เบี้ยประกัน ค่าแรง ค่าใช้จ่ายอื่นๆในการประกอบการ วิธีนี้จะไม่คำนึงถึงศักยภาพของผลผลิต และการเติบโตในอนาคต

ดังนั้น ต้นทุนที่สูงไม่ได้สะท้อนถึงมูลค่าตลาดว่าจะสูงตามไปด้วย วิธีที่ 2 การประเมินโดยเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) วิธีการนี้เป็นการวิเคราะห์มูลค่าจากการซื้อขายต้นไม้จริง การเปรียบเทียบราคา การใช้ข้อมูลทางสถิติ ข้อมูลราคาไม้แปรรูปในตลาดเปิด เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) สำนักงานส่งเสริมปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ เป็นต้น

รวมทั้งการพิจารณามูลค่ามาตรฐานไม้ยืนต้น แก่นไม้ กระพี้ เปลือก วิธีนี้จะสะท้อนมูลค่าของตลาด แต่ข้อมูลที่ใช้สำหรับเปรียบเทียบราคาจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการประเมินราคาด้วย และ วิธีที่ 3 การประเมินโดยคิดจากรายได้ (Income Approach) คือ การประเมินมูลค่าผลประโยชน์ตอบแทนสุทธิที่จะได้มาในอนาคต ด้วยการจัดทำประมาณการกระแสเงินสด (รายรับ-รายจ่าย) แล้วคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ข้อมูลสำหรับการประเมินได้จากการประมาณการปริมาตรไม้ยืนต้นบนแปลงที่ประเมิน มูลค่าตามอายุไม้ที่สามารถตัดไปทำประโยชน์ได้ เป็นต้น"

นายไพรัชฯ กล่าวต่อว่า "วิธีการประเมินไม้ยืนต้นที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย คือ การประเมินราคาโดยเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) โดยสืบหาและเทียบเคียงราคาซื้อขายในตลาดให้ได้ราคาที่ใกล้เคียงมากที่สุดเพื่อสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง และปัจจุบันมีการซื้อขายต้นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ครบถ้วน แพร่หลาย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีราคากลางเพื่อเป็นมาตรฐานในการประเมินราคาต่อไป"

"ขณะเดียวกัน กรมฯ เตรียมหารือกับสถาบันการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บ.ส.ย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

ประเด็น "การนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ" เพื่อให้สถาบันการเงินเปิดรับไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เช่น ปัญหา-อุปสรรค และแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้มากที่สุด และเป็นที่พึ่งสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี/ประชาชนทั่วไปที่ต้องการนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจหรือเพื่อการกู้เงิน" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย