ล่วงเลยช่วงไตรมาสแรก เข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 เหล่าบรรดาสถาบันการเงินต่างเริ่มทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ โดย เอสเอ็มอี ชี้ช่องรวย ได้รวบรวมผลประกอบการไตรมาสแรกของ 6 สถาบันการเงิน พร้อมทั้งแผนการดำเนินงานในช่วงไตรมาสถัดไป ซึ่งมีความน่าสนใจในแง่ของการผลักดันธุรกิจเกี่ยวกับการเงินการธนาคารให้ล้อไปกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ธนาคารกรุงเทพ กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2561
ธนาคารกรุงเทพ ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ว่าน่าจะอยู่ในระดับที่ร้อยละ 3.8 ลดลงจากร้อยละ 4.1 ในปี 2561 ท่ามกลางภาวะการชะลอตัวของการค้าโลกและความเสี่ยงจากนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ การส่งออกในสองเดือนแรกของปีชะลอลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันการผลิตในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ส่งผลให้กิจกรรมการผลิตในประเทศโดยรวมลดลง อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัว สอดคล้องกับรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระยะต่อไป ถึงแม้ว่าความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเพิ่มขึ้นจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน นอกจากนี้ นโยบายเพื่อเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือนซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2562 ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารจำนวน 9,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากไตรมาส 1 ปี 2561 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.34 เป็นร้อยละ 2.48 ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 28.3 สาเหตุหลักจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง จากผลของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล และจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 3.1 และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานที่ร้อยละ 42.6
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,029,810 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.6 จากสิ้นปี 2561 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.5 และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ร้อยละ 189.0
ด้านเงินกองทุน ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องแนวทางการระบุและกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบต้องดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหาย (Higher Loss Absorbency) ในรูปของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มเติมจากการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำอีกร้อยละ 1.0 โดยให้ทยอยดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มอีกร้อยละ 0.5 ในแต่ละปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนอัตราส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 1.0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 สำหรับธนาคารหากนับกำไรสุทธิงวดกรกฎาคมถึงธันวาคม 2561 และกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2562 หักด้วยเงินปันผลที่จะจ่ายในเดือนพฤษภาคม 2562 เข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18.9 ร้อยละ 17.4 และร้อยละ 17.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งรวมส่วนเพิ่มตาม D-SIBs เรียบร้อยแล้ว
ธนาคารธนชาต (TBANK) ไตรมาส 1 กำไรก่อนภาษีเติบโตสูง
นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2562 จำนวน 3,650 ล้านบาท ลดลง 3.41% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีของธนาคารได้หมดไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 แต่หากเปรียบเทียบผลการดำเนินงานก่อนภาษี ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรก่อนภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 771 ล้านบาท หรือ 18.70% ซึ่งเกิดจากความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์บนพื้นฐานของการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางของธนาคารมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานไตรมาสนี้กับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิเติบโตขึ้น 2.44% และเป็นการเติบโตของกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่องหลังจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้หมดไป ซึ่งสามารถสะท้อนได้ว่าธนาคารมีความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจหลักมากขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่พันธกิจของปีนี้ก็ยังดำเนินไปได้ด้วยดีตามแผน โดยธนาคารยังรักษาความเป็นที่ 1 ในสินเชื่อเช่าซื้อที่เติบโต 2.81% จากสิ้นปี (13.71% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน) การรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้ NPL อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอยู่ที่ 2.19% รวมถึงการขยายสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน (CASA) ที่สามารถปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 49.31%
“นอกเหนือจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งตามที่ได้กล่าวมา ธนาคารธนชาตยังได้รับการยอมรับในระดับสากลด้วยการได้รับรางวัล “ธนาคารยอดเยี่ยมด้านสินเชื่อรถยนต์แห่งปี (Automobile Lending Product of the Year)” ซึ่งประเมินจากสถาบันการเงิน 300 แห่งจากทั่วเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันตก กว่า 42 ประเทศ ในงานมอบรางวัล The Asian Banker 2019 จัดโดยนิตยสาร The Asian Banker นิตยสารการเงินการธนาคารชั้นนำของเอเชีย ซึ่งธนาคารธนชาตได้รับรางวัลนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งการได้รับรางวัลในครั้งนี้ เนื่องจากธนาคารมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ที่แข็งแกร่ง ในขณะที่มี NPL Ratio ในระดับต่ำ และยังเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ดำเนินการตามเกณฑ์การให้คะแนนเครดิตบูโรใหม่ อีกทั้งการเปิดตัว “Auto Loan Digital Experience (ALDX)” ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของลูกค้าและการบริหารจัดการ ตลอดจนการให้บริการสินเชื่อรถยนต์บนช่องทางดิจิทัลเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ตอกย้ำการให้บริการที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และการพัฒนาการให้บริการที่มีความโดดเด่นเป็น “อันดับหนึ่งด้านสินเชื่อรถยนต์” มาอย่างยาวนาน”
ไทยพาณิชย์ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2562 จำนวน 9,157 ล้าน
ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2562 จำนวน 9,157 ล้านบาท (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) ลดลง 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานจากกฎหมายแรงงานใหม่ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 29% ตามการปรับตัวดีขึ้นของการดำเนินงานที่สำคัญ
ในไตรมาส 1 ปี 2562 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 24,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเงินให้สินเชื่อของธนาคารเติบโต 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ธนาคารอยู่ในระหว่างการปรับพอร์ตสินเชื่อและเริ่มขยายสินเชื่อในธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยเพียง 0.3% รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของรายได้สุทธิจากธุรกิจประกันชีวิต
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในไตรมาสนี้ มีจำนวน 17,835 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 11% จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานจากกฎหมายแรงงานใหม่ จำนวน 1.4 พันล้านบาท หากไม่รวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียวนี้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จะเท่ากับ 47.5% ลดลงเมื่อเทียบกับ 47.7% ในไตรมาสก่อน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 2% จากไตรมาสก่อน
ในไตรมาสนี้ คุณภาพของสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) มีจำนวนลดลง ในขณะที่อัตราส่วน NPL ปรับตัวดีขึ้นเป็น 2.77% จาก 2.85% ในไตรมาสก่อน และจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติ่มไว้ในไตรมาสก่อน ธนาคารจึงได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรวม 5,420 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ หรือคิดเป็นอัตราส่วนค่าใช้จ่ายหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ 1.02% ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจในปัจจุบัน อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับสูงขึ้นเป็น 152.8% เมื่อเทียบกับ 146.7% ในไตรมาสก่อน และเงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 17.1%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าแม้ว่าในไตรมาสนี้ธนาคารจะได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานจากกฎหมายแรงงานใหม่ ธุรกิจหลักของธนาคารยังคงขยายตัวได้ดีและมีศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากผลลัพธ์ของโครงการ Transformation ที่ได้ปรากฎเด่นชัดขึ้นตามลำดับ รวมถึงจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์มของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ธนาคารมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิผลจากการลงทุนในโครงการ Transformation ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่และการปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่จะทยอยลดลงในอนาคต ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ริเริ่มนำวัฒนธรรมองค์กรแบบ Agile มาประยุกต์ใช้เพื่อให้ธนาคารมีความสามารถในการตอบสนองผู้บริโภคในเรื่องของการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ความรวดเร็ว (Speed) นวัตกรรม (Innovation) และวัฒนธรรมความเสี่ยง (Risk Culture) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็น 'ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด' ”
กสิกรไทย ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 62 กำไร 10,044 ล้าน
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถประคองทิศทางการขยายตัวได้ต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 แต่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงได้รับแรงกดดันจากความอ่อนแอของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่เพิ่มความท้าทายให้กับภาคธุรกิจที่ในอีกด้านหนึ่งต้องรับมือกับภาวะการแข่งขันในรูปแบบใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและนโยบาย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค
สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,044 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 722 ล้านบาท หรือ 6.70%
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,044 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 722 ล้านบาท หรือ 6.70% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,556 ล้านบาท หรือ 6.57% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อ และเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.32% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 2,871 ล้านบาท หรือ 19.00% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.70%
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและภาษีเงินได้ จำนวน 21,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 2,946 ล้านบาท หรือ 15.89% จากค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลง จำนวน 3,469 ล้านบาท หรือ 17.81% ซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล โดยส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจำนวน 219 ล้านบาท หรือ 0.86% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 304 ล้านบาท หรือ 2.43% หลัก ๆ เกิดจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง ในขณะที่รายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดเงินและตลาดทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง จำนวน 928 ล้านบาท หรือ 10.91% ทำให้กำไรสุทธิมีจำนวน 10,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 3,011 ล้านบาท
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 ธนาคารและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,150,641 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2561 จำนวน 4,450 ล้านบาท หรือ 0.14% ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ ในขณะที่เงินลงทุนสุทธิเพิ่มขึ้น สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 3.44% เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์โดยการลดปริมาณการขายหนี้บางส่วนและบริหารจัดการเอง ซึ่งคาดว่าจะได้รับการชำระคืนสูงกว่าในระยะยาว จึงทำให้ปริมาณเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นไตรมาสสูงขึ้น ขณะที่สิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3.34% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 158.78% โดยสิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 160.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 อยู่ที่ 18.12% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.73%
ทีเอ็มบี กำไรสุทธิที่ 1,579 ล้าน มุ่งขยายฐานลูกค้าด้วยกลยุทธ์ Get MORE with TMB
ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 โดยธนาคารสามารถขยายฐานเงินฝากมาอยู่ที่ 6.61 แสนล้านบาท หรือเติบโต 1.8% จากไตรมาสที่แล้ว ตามการขยายตัวของเงินฝากลูกค้ารายย่อย ด้านสินเชื่ออยู่ที่ 6.87 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.2% หนุนโดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับกำไรสุทธิมีจำนวน 1,579 ล้านบาท ลดลง 7.2% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการบันทึกค่าใช้จ่าย one-time สำหรับ Employee Retirement Benefit ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ ส่วนคุณภาพสินทรัพย์เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยสัดส่วน NPL อยู่ในระดับทรงตัวที่ 2.81% ขณะที่สัดส่วนสำรองฯ ต่อ NPL (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 145%
นายปิติ ตัณฑเกษม กล่าวว่า ทีเอ็มบียังคงมุ่งเน้นกลยุทธ์การใช้เงินฝากเป็นตัวนำ โดยการขยายฐานลูกค้าผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝาก เมื่อรู้จักและเข้าใจความต้องการของลูกค้าแล้วจึงค่อยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านการเงินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ ประกัน และการลงทุน ซึ่งที่ทีเอ็มบี เราไม่เพียงแต่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่าง หากแต่ยังมอบสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าให้กับลูกค้าภายใต้แนวคิด Get MORE with TMB อย่างเช่นล่าสุดในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ทีเอ็มบีได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบของประกันอุบัติเหตุ คุ้มครอง 20 เท่าของเงินฝาก หรือสูงสุด 3 ล้านบาท ให้กับลูกค้าTMB All Free ที่มีเงินฝากในบัญชี 5,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจากความตั้งใจในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้ทีเอ็มบีสามารถขยายฐานลูกค้าและเงินฝากได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 ทีเอ็มบีมีเงินฝากเติบโต 1.8% หนุนโดยเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยจากผลิตภัณฑ์หลัก หรือ Flagship product ได้แก่ TMB All Free (+2%) และ TMB No Fixed (+3%) รวมทั้งเงินฝากในรูปแบบดิจิทัล ME Save (+7%)
ด้านสินเชื่อ ธนาคารเน้นขยายสินเชื่อใหม่ควบคู่กับการดูแลคุณภาพสินเชื่อในพอร์ตปัจจุบันอย่างรอบคอบ โดยในส่วนของการให้สินเชื่อใหม่นั้น พอร์ตที่เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ พอร์ตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้ารายย่อย (+6%) สำหรับพอร์ตสินเชื่อลูกค้าธุรกิจปรับตัวลดลงจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งผลจากการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลาง ส่งผลให้พอร์ตลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีขนาดกลางลดลง จึงทำให้ในภาพรวมสินเชื่อเติบโตได้ที่ 0.2%
ในส่วนของรายได้ ทีเอ็มบีมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,236 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2562 ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ เริ่มเห็นการฟื้นตัวของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย หรือ NIM ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยอยู่ที่ 2.89% จาก 2.86% ในไตรมาสก่อน ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 12.9% มาอยู่ที่ 2,280 ล้านบาท ตามรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อนหน้า
รายได้จากการดำเนินงานรวมจึงอยู่ที่ 8,517 ล้านบาท ลดลง 3.8% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 4,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายพนักงาน โดยในไตรมาส 1 นี้ ธนาคารมีการบันทึกค่าใช้จ่ายสำหรับเงินชดเชยโครงการผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงานเมื่อเกษียณอายุ (Employee Retirement Benefit) ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นการบันทึกแบบ one time ทำให้ทีเอ็มบีมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ ที่ 3,790 ล้านบาท ลดลง 9.3% ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ จำนวน 1,839 ล้านบาท และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,579 ล้านบาท ลดลง 7.2% อย่างไรก็ดี หากไม่รวมค่าใช้จ่ายรายการพิเศษดังกล่าว ทีเอ็มบีจะมีกำไรสุทธิ 1,862 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากไตรมาสก่อน
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ภาพรวมยังคงเป็นไปตามเป้าหมายปี 2562 ของธนาคารที่จะบริหารจัดการสัดส่วน NPL ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.9% และคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสียให้สูงกว่า 140% ซึ่งในไตรมาส 1 ปี 2562 ธนาคารมีสัดส่วน NPL อยู่ที่ 2.81% และอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสีย ซึ่งสะท้อนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงที่ 145%
ท้ายสุด ในส่วนของระดับความเพียงพอของเงินกองทุน ทีเอ็มบี มีอัตราส่วน CAR และ Tier I ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ 17.5% และ 13.7% เป็นไปตามเกณฑ์ Basel III และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ
ซีไอเอ็มบี ไทย กำไรสุทธิไตรมาสแรก 325.0 ล้าน เติบโต 92.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
นายโอมาร์ ซิดดิก รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2562 มีกำไรสุทธิจำนวน 325.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 156.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 92.4 เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2561 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานร้อยละ 3.4 และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 17.4 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานร้อยละ 8.2
รายได้จากการดำเนินงาน สำหรับงวดสามเดือนปี 2562 มีจำนวน 3,496.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 114.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2561 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 111.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน รายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 10.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ และกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของขาดทุนสุทธิจากหนี้สินทางการเงินที่กำหนดให้แสดงด้วยมูลค่ายุติธรรม รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจำนวน 7.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนปี 2562 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2561 เพิ่มขึ้นจำนวน 157.7 ล้านบาทหรือร้อยละ 8.2 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์การขยายงานของธนาคารภายใต้โครงการ “Fast Forward” เป็นผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 59.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2561 อยู่ที่ ร้อยละ 57.2
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 3.31 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2561อยู่ที่ร้อยละ 3.98 เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น
วันที่ 31 มีนาคม 2562 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 230.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 235.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากสิ้นปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 234.3 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 98.3 จากร้อยละ 97.2 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 10.0 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 4.3 คงที่เมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลลูกหนี้และการติดตามหนี้
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 109.5 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 107.0 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 เงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 11.0 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินจากเงินสำรองขั้นต่ำตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 5.4 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2562 มีจำนวน 48.1 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 18.9 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 13.8