กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์สร้าง 20 แบรนด์ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เสริมแกร่งด้าน Branding นำแบรนด์ไทยสู่สากล โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์มาให้ความรู้และบ่มเพาะแบรนด์ไทย (IDEA LAB: Thai Brand Incubation Program) ให้สามารถนำแนวทางไปพัฒนาต่อยอดให้กับแบรนด์ได้จริง มุ่งหวังให้เกิดการสร้างแบรนด์ตนเองให้แข็งแกร่ง มีวางแผนธุรกิจและกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ เล่าเรื่องราวแบรนด์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้จัดกิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทย ภายใต้โครงการส่งเสริมแบรนด์สินค้าและธุรกิจสร้างสรรค์สู่สากล (MOC4i : Thai Brand Heroes Program) ระดับที่ 2 Incubation โดยทั้ง 20 แบรนด์นี้ เป็นผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มสินค้าเกษตร อาหารและกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ผ่านโครงการส่งเสริมและสร้างนวัตกรรมจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อาทิ ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล Rice Plus Award จากกรมการค้าต่างประเทศ ผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาด้านนวัตกรรมจากสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นต้น ซึ่งเป็นโครงการตามแผนงานบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการ เศรษฐกิจชุมชนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล ตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ในการบูรณาการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างแบรนด์ นวัตกรรมและการออกแบบสินค้าไทย เพื่อให้แบรนด์ไทยเป็นที่ยอมรับในอาเซียนและเวทีการค้าโลก
“กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ริเริ่มโครงการสำคัญ คือ โครงการส่งเสริมแบรนด์สินค้าและบริการไทยสู่ตลาดโลก หรือ MOC 4i: Thai Brand Heroes Program ซึ่งแบ่งแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ตามความพร้อมเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 Inspiration สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ โดยกระตุ้นให้มีการขยายตลาดโดยใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวนำ (Demand-Driven & Market Expansion) ปรับวิธีคิดของผู้ประกอบการ (Entrepreneur Mindset) และเสริมทักษะการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) ระดับที่ 2 Incubation สำหรับผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตนเองทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เน้นการสร้างกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ ระดับที่ 3 Implementation เสริมสร้างความเข้มแข็งสู่ตลาดต่างประเทศ โดยออกแบบสินค้า/บริการเป็นการเฉพาะ (Customize) ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคของแต่ละตลาด พร้อมทั้งบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศแบบครบวงจร สร้างแบรนด์โร้ดแมปให้เฉพาะราย เพื่อให้มีแผนที่ชัดเจนในการเจาะตลาด โดยมุ่งหวังให้เกิด Thai Brand Heroes ในตลาดต่างประเทศ พร้อมด้วย ระดับที่ 4 Internationalization สร้างแบรนด์ร่วมกับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงในเวทีโลก (Global Presence & Co-Brand with Champions) เน้นการต่อยอดให้เกิดการสร้างแบรนด์ร่วมกันและสร้างเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเน้นกลุ่มที่มีแบรนด์ของตนเองอย่างเข้มแข็ง มีมูลค่าเพิ่มสูง นวัตกรรมและมีการออกแบบที่ดี เพื่อนำไปสู่การสร้าง Global Brand ในอนาคต” น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว
“กิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทย IDEA LAB: Thai Brand Incubation Program นั้น นับว่าเป็นโครงการ MOC 4i ในขั้น 2 (Incubation) โดยกรมจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการสร้างแบรนด์ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมทีมกับผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง เพื่อบ่มเพาะอย่างเข้มข้นและช่วยแนะนำแนวทางการวางแผนกลยุทธ์ให้กับแบรนด์พัฒนาแบรนด์ให้เติบโตสู่ตลาดโลก ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการได้เข้ารับการบ่มเพาะอย่างเข้มข้นแล้ว ก็ได้ทำแผนกลยุทธ์ของตนเองเพื่อนำเสนอให้กับผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมและนำไปปรับปรุงไขต่อยอดแบรนด์ได้จริง โครงการนี้นับว่าเป็นการบูรณาการอย่างแท้จริง โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานปลายน้ำ จึงได้ต่อยอดผู้ประกอบการ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตนเองและผ่านการส่งเสริมด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่ผ่านการสนับสนุนจากโครงการด้านนวัตกรรมสินค้า การวิจัย การออกแบบและพัฒนา รูปแบบสินค้า การเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ หรือได้รับรางวัลจากโครงการต่างๆ ของภาครัฐ มาเสริมสร้างศักยภาพด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ สามารถถ่ายทอดเรื่องราว จุดเด่นของแบรนด์ตนเองได้”
20 แบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการ เป็นผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ แบรนด์ Maison Craft/ OOPPAMA/ Thaniya/ Mela / Truly Hill Coffee / Prompkin/ Twin Elephants/ Nuttarin/ Chromaloia/ Jam Cosmetics / Soap Villa ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมจากโครงการต่างๆของกระททรวงวิทยาศาสตร์ และผ่านรางวัล Rice Plus Award ของกรมการค้าต่างประเทศ อาทิ แบรนด์ PET SMILE/ Diamond Fresh/ YOD SANG/ Medtech/ Zenezz พร้อมกันนี้ ยังเป็นผู้ประกอบการในภูมิภาค 4 ราย ได้แก่ Truly Hill Coffee จากจ.เชียงใหม่/ Mully จากจ.นครราชสีมา/ Jam Cosmetics จากจ.พิษณุโลก และ Maison Craft จากจังหวัดสงขลา
ผลจากการเข้าร่วมโครงการ ผู้ประกอบการเปิดเผยว่า การเข้าร่วมโครงการ IDEA LAB: Thai Brand Incubation Program นี้ ได้รับคำแนะนำที่ทำให้แบรนด์มีความชัดเจนมากขึ้นและกว้างขึ้น ทำให้เห็นพื้นที่ใหม่ๆ ช่องทางและแนวคิดใหม่ๆ ในสร้างแบรนด์ โดยไม่ต้องแข่งกันเรื่องราคาเพียงอย่างเดียว อีกทั้งทำให้มองเห็นคุณค่าในตัวเองชัดขึ้นและเข้าใจตัวตนของแบรนด์ที่แท้จริง และผลลัพธ์ที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมคือทำให้ได้รับกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ มีการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ กลุ่มเป้าหมายและแนวทางการสื่อสารทางการตลาดที่ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งได้รับแนวทางการสร้างแบรนด์ใหม่ (rebranding สินค้าใหม่) เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น รวมทั้งได้เห็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ
ในปี 2562 นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะส่งเสริมแบรนด์ SMEs Idea Lab รุ่นที่ 1 อย่างต่อเนื่องโดยมีกรอบระยะเวลา ภายใน 3 ปี (ปี 2561 - 2563) เพื่อส่งเสริมการสร้างแบรนด์ SMEs ให้เห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าทั้งในและต่างประเทศและพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อสร้างแบรนด์รุ่นที่ 1 ให้มีความเข้มแข็งและเป็นแบบอย่าง/ต้นแบบให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ อาทิ การส่งเสริมการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Top Thai Brand เน้นตลาดจีน CLMV และงาน Thaifex /STYLE Bangkok เพื่อเป็นการทดสอบตลาดตามกลยุทธ์ หรือ ส่งเสริมการเข้าร่วมโครงการ SME Pro Active สำหรับกลุ่มสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเน้นตลาดสหรัฐอเมริกา สิงค์โปร์ และออสเตรเลีย พร้อมทั้งผลักดันเพื่อสมัครขอรับตรา T Mark เพื่อยกระดับแบรนด์สู่มาตรฐานระดับสากล อีกทั้งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในตลาดจีนเป็นตลาดนำร่อง โดยจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ในการดำเนินธุรกิจในจีน อาทิ ข้อมูลเชิงลึกของตลาด แนวโน้มความนิยมผู้บริโภคชาวจีน การเตรียมความพร้อมในการจดเครื่องหมายการค้าในจีน การรับรองคุณภาพสินค้า/ภาษี และช่องทางการค้าออนไลน์ในจีน โดยกำหนดจัดกิจกรรมในช่วงปลายเดือนเมษายน 2562 และนำไปทดสอบตลาดจริงในช่องทาง E-Commerce ในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ต่อไป
นอกจากการต่อยอดแบรนด์ SMEs Idea Lab รุ่นที่ 1 แล้ว ในปี 2562 นี้ กรมจะสร้างแบรนด์เป็นรุ่นที่ 2 โดยเน้นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ในภูมิภาคที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง มีการนำเอาวัตถุดิบหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตสินค้าหรือมีฐานการผลิตในภูมิภาค มีการสร้างงาน/สร้างความเข้มแข็งในชุมชน เพื่อก่อให้เกิดการสร้างแบรนด์อย่างพอเพียงและยั่งยืน และสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจฐานรากยกระดับสู่สากล โดยกระตุ้นและเสริมสร้างความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการด้วย หากท่านใดต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ DITP Call Center 1169 หรือ สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า โทร 02-507-8276, 02 507- 8272