โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กสิกรไทย สปป.ลาวจับมือลาวเทเลคอมฯ เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ แอป QR KBank

กสิกรไทย สปป.ลาวร่วมกับลาวเทเลคอมฯ เอาใจผู้ใช้มือถือ เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ เติมเงินค่าโทรและค่าเน็ตเครือข่ายลาวเทเลคอม ผ่าน “QR KBank” แอปฯ กระเป๋าเงินบนมือถือได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ยกระดับการให้บริการให้ลูกค้าสะดวกสบายมากขึ้น คาดในปี 62 จะมีผู้ใช้งาน “QR KBank” กว่า 120,000 ราย มีธุรกรรมเกิดขึ้น 3 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 88,500 ล้านลาวกีบ

นายพัฒนพงศ์ ตัณฑ์สมบุญ ประธานสภาบริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางเงินของประชากร เนื่องจากจำนวนสาขาและจุดให้บริการมีน้อย ธนาคารกสิกรไทยเห็นโอกาสในการให้บริการแก่ประชาชน สปป.ลาวผ่านช่องทางดิจิทัล

จึงได้ทำการเปิดตัวและทดลองการใช้งาน “QR KBank” แอปพลิเคชันกระเป๋าเงินบนโทรศัพท์มือถือที่ไม่ต้องผูกกับบัญชีธนาคาร เมื่อธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ตลาดขัวดิน โดยให้จับจ่ายใช้สอยในตลาดผ่านระบบ QR Code ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีจำนวนธุรกรรมกว่า 73,000 ครั้ง มูลค่ากว่า 54,000 ล้านลาวกีบ

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น ธนาคารกสิกรไทยจึงได้ร่วมกับลาวเทเลคอม ผู้นำด้านระบบโทรคมนาคมของสปป.ลาว เปิดตัวระบบการเติมเงินโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเครือข่ายลาวเทเลคอมเพื่อตอบโจทย์อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าชาว สปป.ลาวไปอีกขั้น โดยเริ่มให้บริการแล้วในเขตนครหลวงเวียงจันทน์เป็นอันดับแรก

ด้านนายปิยะวัฒน์ จริยเศรษฐพงศ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ลาวเทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด มหาชน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ชาว สปป.ลาวใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 81% และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นกว่าปีละ 15% ทุกปี แสดงให้เห็นว่าชาว สปป.ลาว มีความพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเปรียบเหมือนปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิต

ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์อันดับ 1 ของ สปป.ลาว การเปิดตัวฟีเจอร์เติมเงินโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเครือข่ายลาวเทเลคอมผ่านแอป QR KBank ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการยกระดับช่องทางการให้บริการของลาวเทเลคอมไปอีกขั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าให้เติมเงินโทรศัพท์มือถือได้สะดวกรวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา ตอบความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัล

ท่านสุลิสัก ทำนุวง ว่าการหัวหน้ากรมคุ้มครองระบบชำระสะสาง ธนาคารแห่ง สปป.ลาว กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้ภาคเอกชนนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับการให้บริการทางการเงินและการชำระเงินอันทันสมัยให้แก่ประชาชนชาว สปป.ลาว การที่ธนาคารกสิกรไทยและลาวเทเลคอม ร่วมมือกันเพื่อนำเสนอบริการใหม่ ๆ แก่ชาว สปป.ลาวซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะพลักดัน สปป.ลาว สู่สังคมไร้เงินสดเทียบเท่านานาประเทศในโลกได้อย่างแท้จริง

นายพัฒนพงศ์ กล่าวเสริมว่า ชาว สปป.ลาว สามารถดาวน์โหลด QR KBank เพื่อใช้งานได้แล้วตั้งแต่วันนี้ จาก Apple App Store บนระบบ iOS หรือ Google Play บนระบบ Android และสามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนเพื่อเริ่มใช้งานได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งลูกค้าสามารถเติมเงินเข้าและถอนเงินออกจากกระเป๋าเงิน QR KBank ได้ที่จุดบริการ QR KBank เพียงมองหาป้ายสัญลักษณ์ ”แมวนำโชค” ที่มีอยู่ทั่วนครหลวงเวียงจันทน์

โดยไม่จำเป็นต้องไปทำธุรกรรมที่สาขาของธนาคาร และในช่วงเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่นี้ ธนาคารยังได้เตรียมสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าที่ทำการเติมเงินโทรศัพท์มือถือของเครือข่ายลาวเทเลคอม ผ่าน QR KBank ไว้มากมาย เช่น ของขวัญและโปรโมชั่นพิเศษจากร้าน K-Star ร้านดังใน สปป.ลาวที่ร่วมรายการ เช่น ร้านชานมไข่มุก Kamu ร้าน B-Beauty และร้าน Retro อีกทั้งยังมีกิจกรรมชิงโชคของรางวัลมากมาย รวมไปถึงโปรโมชั่นค่าอินเทอร์เน็ตพิเศษจากเครือข่ายลาวเทเลคอม

ซึ่งทางธนาคารได้วางแผนการอัพเดทร้านค้า K-Star โปรโมชั่นต่าง ๆ และการขยายจุดให้บริการอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่จุดให้บริการ QR KBank ทั่วนครหลวงเวียงจันทน์ หรือที่ FaceBook : KBankLaos หรือเว็บไซต์ www.kasikornbank.com.la

สำหรับในปี 2562 คาดว่าจะมีผู้ใช้งาน “QR KBank” กว่า 120,000 ราย มีธุรกรรมเกิดขึ้น 3 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 88,500 ล้านลาวกีบ และตั้งเป้าว่าจะสามารถขยายจุดให้บริการของธนาคาร รวมถึงตัวแทนจุดให้บริการให้ครอบคลุมทั่วทั้งนครหลวงเวียงจันทน์อีกกว่า 120 จุด และให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศสปป. ลาว ในอนาคต ทั้งนี้นอกเหนือจากการให้บริการข้างต้นธนาคารกสิกรไทย

สปป.ลาว ยังมีการให้บริการผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อ และผลิตภัณฑ์การเงินระหว่างประเทศ (International Trade Product) กับลูกค้าบุคคล และกลุ่มธุรกิจ โดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าไทยและลูกค้าสปป. ลาว ซึ่งมีผลประกอบการที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง