โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

DITP เผย "อาหารอุ่นร้อนด้วยตนเอง" กำลังมาแรงในตลาดจีน

ไทยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก และขณะนี้ จีน กำลังนิยมอาหารสำเร็จรูปที่สามารถอุ่นร้อนพร้อมรับประทานได้เลยทันที และถือว่าอาหารประเภทนี้ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก ถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูปของไทยในการพลิกแพลงคิดค้นเมนูเพื่อส่งออกตีตลาดในจีนได้

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผย “อาหารอุ่นร้อนด้วยตนเอง” มาแรงในตลาดจีน มูลค่าตลาดเติบโตกว่าปีละ 20% ระบุ “บะหมี่ ข้าวผัด โจ๊ก อาหารว่าง” ได้รับความนิยมสูง ชี้เป็นโอกาสของผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ที่จะเจาะตลาด โดยอาหารที่มีโอกาส ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ผัดผัก ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว

นายสกรรจ์ แสนโสภา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยถึงแนวโน้มอาหารอุ่นร้อนด้วยตนเองในประเทศจีน ว่า ขณะนี้การบริโภคอาหารอุ่นร้อนด้วยตนเองในจีน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่อาหารชนิดนี้ได้เปิดตัวในจีนเมื่อปี 2016 และได้รับความนิยมมาโดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และในปัจจุบันตลาดอาหารอุ่นร้อนด้วยตนเองยังมีมูลค่าตลาดมากกว่า 3,000 ล้านหยวน มีอัตราการเติบโตมากกว่า 20% ต่อปี
ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลอาหารอุ่นร้อนด้วยตนเองในจีน พบว่า เป็นอาหารที่เติบโตเร็วสูงของบรรดาอาหารในเว็บไซต์ Tmall.com มียอดสั่งซื้อในเทศกาลวันคนโสด 11 เดือน 11 สูงถึง 1.7 ล้านชิ้นภายในหนึ่งวัน และหากค้นหาอาหารอุ่นร้อนด้วยตนเองที่เว็บไซต์ Taobao.com นอกจากจะมีอาหารประเภทกับข้าว และหม้อไฟอุ่นร้อนด้วยตนเองแล้ว ยังมีอาหารประเภทบะหมี่ ก๋วยเตี๋ยวหลอซือ กุ้งมังกรแม่น้ำ กับข้าว ผักดองต้มปลา และบาร์บีคิวอุ่นร้อนด้วยตนเอง ซึ่งกล่องข้าวอุ่นร้อนด้วยตนเองยี่ห้อหนึ่งสามารถจำหน่ายได้เดือนละกว่า 1 หมื่นกล่อง และก๋วยเตี๋ยวหลอซือ จำหน่ายได้มากกว่า 3 แสนกล่อง เป็นต้น

นอกจากการจำหน่ายทางออนไลน์ ยังพบว่า อาหารอุ่นร้อนด้วยตนเองดังกล่าว ยังมีการจำหน่ายทางออฟไลน์ด้วย โดยอาหารที่จำหน่ายทางออฟไลน์ เช่น อาหารประเภทกับข้าว และหม้อไฟ เป็นหลัก และยังมีบะหมี่และก๋วยเตี๋ยวหลอซือ มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 20-40 หยวนต่อกล่อง

นายสกรรจ์กล่าวว่า ผู้บริโภคอาหารอุ่นร้อนด้วยตนเองส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น โดยตามข้อมูลจาก Tmall.com แสดงว่า กลุ่มผู้บริโภคอายุระหว่าง 18-24 ปี มีสัดส่วนเป็น 47.75% อายุระหว่าง 25-29 ปี สัดส่วน 19.61% ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยและเริ่มทำงานได้ครองสัดส่วนประมาณ 50% ส่วนมณฑลที่นิยมบริโภค คือ กวางตุ้ง เจียงซู เจ้อเจียง มีสัดส่วน 12.78%, 7.9% และ 7.4% ตามลำดับ และยังพบว่า อาหารอุ่นร้อนด้วยตนเองมีศักยภาพที่ตลาดเมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเมืองภูมิภาคสามแหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง

“สาเหตุที่ชาวจีนนิยมบริโภคอาหารอุ่นร้อนด้วยตนเอง เพราะพกพาได้สะดวก และสะดวกในการรับประทาน แค่มีน้ำเย็นหนึ่งแก้วและใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ก็สามารถรับประทานอาหารร้อนๆ ได้ และอาหารสำเร็จรูป เช่น ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ข้าว ผัก โจ๊ก และอาหารว่าง ก็สามารถใช้เป็นอาหารที่บริโภคในแต่ละวันของชาวเมือง และยังสามารถเลือกเป็นอาหารพกพาเพื่อเดินทางท่องเที่ยวได้ด้วย” นายสกรรจ์กล่าว

จากการติดตามอาหารอุ่นร้อนด้วยตนเองในตลาดจีน ยังไม่พบว่ามีอาหารไทย แต่ประเมินแล้วพบว่า อาหารไทยมีโอกาสในการเจาะเข้าสู่ตลาดได้สูงมาก เพราะตลาดยังต้องการอาหารประเภทต่างๆ และความหลากหลายของอาหารอยู่ โดยอาหารไทยที่เหมาะสมจะทำเป็นเมนูสำหรับใส่กล่องอุ่นร้อนด้วยตนเอง เช่น ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ผัดผัก ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว ซึ่งหากวางแผนในการทำตลาดให้ดี เชื่อว่าจะมีโอกาสในการขยายตลาดอาหารไทยในจีนได้เพิ่มขึ้น

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง โทร 001-86-771-556-7359 หรือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือช่องทางสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169