พาณิชย์ จับเข่าคุย สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระตุ้น...ปล่อยสินเชื่อไม้ยืนต้นที่มีค่าเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น พร้อมปลดล็อค...ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจสามารถตัด/เคลื่อนย้ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
กระทรวงพาณิชย์ เชิญสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมให้มีการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พร้อมขอความร่วมมือ..ปล่อยสินเชื่อไม้ยืนต้นที่มีค่าเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น หลัง พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว...ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์สามารถตัด/เคลื่อนย้ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป ทำให้สถาบันการเงินและเจ้าของต้นไม้สามารถบริหารจัดการไม้มีค่าที่เป็นหลักประกันได้สะดวกยิ่งขึ้น
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "เมื่อเร็วๆ นี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เชิญผู้แทนจากสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธ.กรุงไทย ธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
กรมป่าไม้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน สมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย บจ.สยามฟอเรสทรี ร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมให้มีการนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ปัญหา-อุปสรรคในการให้สินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงินกรณีนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกัน รวมทั้ง หลักเกณฑ์การกันเงินสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย"
"เบื้องต้น ทุกหน่วยงานเห็นพ้องกันในการส่งเสริมให้ประชาชนและเกษตรกรของไทยดำเนินการปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์เพื่อการออมในอนาคต และเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศ เนื่องจากต้นไม้ที่ปลูกจะมีมูลค่าสูงขึ้นตามอายุของการปลูก ทำให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานได้ในอนาคต
เพียงแต่ต้องเลือกชนิดและประเภทของต้นไม้ให้มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ รวมทั้ง ต้องพิจารณาถึงความต้องการใช้ไม้ของตลาดเป็นหลักเพื่อกำหนดทิศทางประเภทไม้ที่จะปลูก ทั้งนี้ เห็นควรสนับสนุนให้ประชาชนที่สนใจปลูกต้นไม้มีการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกรและผู้ปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าเป็นอย่างมากทำให้มีอำนาจการต่อรองมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง ช่วยป้องกัน/ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การลักลอบตัดต้นไม้ หรือ เกิดไฟไหม้ เป็นต้น"
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "สำหรับการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินในกรณีที่นำไม้มีค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกัน ส่วนใหญ่เห็นว่า ปัญหา-อุปสรรคในการให้สินเชื่ออยู่ที่ความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของทรัพย์สิน (ต้นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ) ที่นำมาใช้เป็นหลักประกัน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์/วิธีประเมินต้นไม้และการกำหนดราคากลางที่ชัดเจน
ทำให้การปล่อยสินเชื่อเป็นไปด้วยความยากลำบาก รวมทั้ง ความเสี่ยงในการดูแลต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันหลังการให้สินเชื่อ เช่น การลักลอบตัดต้นไม้ เกิดไฟไหม้ ฯลฯ ทำให้สถาบันการเงินยังไม่กล้ารับความเสี่ยงที่จะนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน ทั้งนี้ เห็นว่าหากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยเข้ามาค้ำประกันให้ก็จะเป็นการดี
ซึ่ง บสย.มีความยินดีที่จะค้ำประกันให้กับเอสเอ็มอีที่นำต้นไม้ที่มีค่ามาเป็นหลักประกัน จะช่วยลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ แต่ละสถาบันการเงินยินดีที่จะนำเรื่องการประชุมในครั้งนี้เข้าแจ้งต่อคณะผู้บริหารเพื่อให้แต่ละธนาคารมีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการนำไม้ยืนต้นที่มีค่ามาเป็นหลักประกันมากยิ่งขึ้น"
"นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้จัดทำคู่มือการประเมินราคาต้นไม้ที่เป็นมาตรฐานกลาง แบ่งการประเมินราคาต้นไม้ออกเป็นแต่ละพื้นที่ โดยให้สถาบันการเงินผู้รับต้นไม้เป็นหลักประกันถือปฏิบัติตามคู่มือการประเมินนั้น และควรมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลประเมินราคากลางต้นไม้ โดยให้มีปรับปรุงการประเมินฯ เป็นระยะ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมไม้โตเร็ว และภาคเอกชน
โดยมีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนข้อมูล และทำการวิเคราะห์ต้นทุน/ผลตอบแทนที่ได้ให้ชัดเจน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งแก่สถาบันการเงินและเกษตรกร/ประชาชนผู้ปลูกต้นไม้"
"สำหรับหลักเกณฑ์การกันเงินสำรองในการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกัน ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า การจัดลำดับชั้นการกันเงินสำรองของ ธปท.เปิดกว้างในการรับหลักประกันอยู่แล้ว แต่สำหรับ "ต้นไม้" ที่จะใช้เป็นหลักประกันยังไม่ได้ระบุในระเบียบ/หลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสถาบันการเงินที่ต้องการรับต้นไม้ที่มีค่ามาเป็นหลักประกันก็สามารถประสานมาที่ ธปท.ได้เป็นรายกรณี ทั้งนี้ การกำหนดความเสี่ยงในการให้สินเชื่อนั้นจะพิจารณาที่คุณภาพของหลักประกันที่นำมาวางและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก"
"จากข้อมูลของกรมป่าไม้ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปลูกไม้ยืนต้นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 56 ล้านไร่ เป็นประเภทไม้สักถึงร้อยละ 70 และมีความต้องการใช้ไม้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนประมาณ 58 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีปริมาณเพียงพอ สามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้ โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เป็นหน่วยงานผู้ส่งออกไม้ได้เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ซึ่งกรมป่าไม้อยู่ระหว่างทบทวนการส่งออกไม้ไปจำหน่ายในต่างประเทศ โดยให้มีการส่งออกไม้ได้โดยเสรี และไม่ผูกขาดเพียงรายใดรายหนึ่งเท่านั้น"
อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ขณะนี้ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 8) ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป (จากเดิมที่กำหนดให้ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจที่ขึ้นในที่ดินประเภทอื่นที่ไม่ใช่ป่าเป็นไม้หวงห้าม)
สามารถดำเนินการทำไม้ (ตัด โค่น เลื่อย ชุด ชักลากไม้ในป่า หรือนำไม้ออกจากป่า ฯลฯ) และเคลื่อนย้ายโดยไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้/การจัดการด้านป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระแก่ประชาชนในการทำไม้หรือเคลื่อนย้ายไม้ รวมทั้ง ทำให้สถาบันการเงิน (ผู้รับหลักประกัน) และเจ้าของต้นไม้ (ผู้ให้หลักประกัน) สามารถบริหารจัดการไม้มีค่าที่เป็นหลักประกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น"
"ทั้งนี้ วันอังคารที่ 30 เมษายน 2562 กรมฯ จะนำคณะผู้บริหาร สถาบันการเงิน และสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชม/ศึกษาดูงานอุตสาหกรรมไม้โตเร็ว ณ โรงงานวังศาลา บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการรับไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลักประกันเพิ่มมากขึ้นในอนาคต"
ปัจจุบัน (4 กรกฎาคม 2559 - 23 เมษายน 2562) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 382,061 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 6,113,275 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 48.98 (มูลค่า 2,993,939 ล้านบาท)
รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย คิดเป็นร้อยละ 27.90 (มูลค่า 1,705,911 ล้านบาท) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ ช้าง คิดเป็นร้อยละ 23.08 (มูลค่า 1,410,866 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.03 (มูลค่า 1,975 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็นร้อยละ 0.01 (มูลค่า 318 ล้านบาท) อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 138 ล้านบาท) และไม้ยืนต้น คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 128 ล้านบาท)