ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ในบ้านเราถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งมีข้อดีในหลายด้าน ทั้งประเภทที่มีให้เลือกอย่างหลากหลาย ใช้เงินลงทุนไม่มาก และยังมีระบบการบริหารที่ได้มาตรฐาน เหมือนมีพี่เลี้ยงคอยดูแล
วันนี้เราจะมาพูดคุยแบบเปิดใจกับ คุณบุญประเสริฐ พู่พันธ์ นายกสมาคมแฟรนไชส์ และไลเซนส์ (Franchise and License Association Thailand (FLA)) เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ภายหลังเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ และมุมมองโอกาสการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ให้ผงาดไปไกลถึงระดับอาเซียนและต่อเนื่องไปถึงระดับสากลอีกด้วย
สมาคมแฟรนไชส์ และไลเซนส์ จัดตั้งขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ.2553 จากรวมตัวกันของธุรกิจที่มีความหลากหลาย ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ นำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จในทุกด้านอย่างมั่นคงและสามารถขยายธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันสมาคมฯ มีกลุ่มเพื่อนสมาชิก 80 ธุรกิจ และในอนาคตจะมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 100 % ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป
ภาพรวมความสำเร็จ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร
ตอนนี้ภาพรวมถือว่าดีมาก เรามีจำนวนสมาชิกแล้วเกือบ 400 บริษัท ซึ่งสมาชิกของสมาคมฯ นั้นไม่ได้มีแต่เฉพาะเจ้าของแบรนด์หรือแฟรนไชส์ซอว์ (Franchisor) เท่านั้น แต่เรายังมีแฟรนไชส์ซี (Franchisee) และซัพพลายเออร์ (Supplier) รวมทั้งองค์กรภาครัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สสว., กสอ. ทำให้สมาคมฯมีความเข้มแข็งขึ้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เรามีการจัดงานจับคู่กันทางธุรกิจ (Matching) ระหว่างสมาชิกสมาคมฯ กับผู้ลงทุนชาวพม่า และผู้ลงทุนชาวกัมพูชา โดยปีนี้เรามีแผนจับคู่กันทางธุรกิจตามโอกาสที่เรามี ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยเราจะมีการจัดรอบ 2 กับผู้ลงทุนชาวกัมพูชาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ที่จะถึงนี้ด้วย เพราะถ้าเราเจอผู้ลงทุนที่ใช่แบรนด์แฟรนไชส์ไทยของเราก็จะเติบโตแบบก้าวกระโดดแน่นอน
ความสนใจของประเทศเพื่อนบ้าน มีแนวโน้มอย่างไร
ประเทศเพื่อนบ้านให้ความสนใจแฟรนไชส์ไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแฟรนไชส์ของต่างชาติเลย แม้ปีที่ผ่านมาจากเดิมสมาคมฯ ได้ไปออกงานที่ประเทศฟิลิปปินส์ ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างน้อย แต่เมื่อมาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยเชิญผู้ลงทุนที่สนใจจริงๆ มาลงทุนทำให้โอกาสความสำเร็จมีสูงมาก บางประเทศมีนักลงทุนคนเดียวแต่สามารถลงทุนกับเราได้ถึง 8 แบรนด์ อย่างที่ลาวบริษัทเดียวซื้อแฟรนไชส์ไทยไปถึง 8 แบรนด์
ภาพรวมอุตสาหกรรมแฟรนไชส์ไทยเป็นอย่างไร
ธุรกิจแฟรนไชส์ในบ้านเราเติบโตขึ้น แต่เติบโตในเชิงของแบรนด์ต่างชาติ แฟรนไชส์แบรนด์ไทยยังเติบโตค่อนข้างน้อยกว่าต่างชาติ เพราะค่านิยมของคนไทยเปิดรับแบรนด์ต่างชาติค่อนข้างง่าย ตอนนี้ทางสมาคมฯ ได้เร่งให้ความรู้ด้วยการจัดฝึกอบรมโครงการพี่สอนน้อง เกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ ณ ตอนนี้เราร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาทั้งระดับเริ่มต้น ระดับกลาง และระดับ Advance คือ
ระดับเริ่มต้น – สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจมาแล้ว 1-2 ปี และต้องการผันตัวเองมาทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์
ระดับกลาง – สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจแฟรนไชส์มาแล้ว แต่ต้องการปรับปรุงพัฒนาให้มีมาตรฐานมากขึ้น
ระดับ Advance – สำหรับผู้ที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ สมาคมฯ ก็มีหลักสูตรเพื่อพัฒนาให้กลุ่มนี้สามารถไปขยายไปต่างประเทศด้วยเช่นกัน
“จริงๆ สินค้าไทยติดอันดับโลกหลายอย่างทั้ง อาหาร สปา มวยไทย รวมถึงเรื่องการบริการ แต่เมื่อเราไม่ได้ขยายด้วยระบบแฟรนไชส์ จึงค่อนข้างขยายไปได้น้อย ขณะนี้ เรามีสมาชิกประมาณ 49 แบรนด์ ขยายไปถึง 33 ประเทศ หรือประมาณ 145 สาขาในปี 2018 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอาหารและการศึกษา และประเภททั่วไป เช่น ธุรกิจรีไซเคิลก็ขยายไปต่างประเทศเช่นกัน แต่ก็ถือว่ายังน้อย เราพยายามพัฒนาให้แฟรนไชส์แบรนด์ไทยขยายต่อไป เพราะถ้าเราไม่ขยายเดี๋ยวแฟรนไชส์ต่างชาติจะนำไปขยายทำให้ไทยเราเสียโอกาส อย่างเช่น ร้านอาหารไทยที่ไปเปิดในอเมริกาส่วนใหญ่มักจะมีคนไปเปิด ซึ่งถ้าหากเปิดหรือขยายในรูปแบบแฟรนไชส์เชื่อว่าจะสามารถขยายไปได้มากกว่านี้ ซึ่งระบบแฟรนไชส์จะช่วยสนับสนุนในเรื่องวัตถุดิบและระบบการตลาด เพราะไม่ใช่เพียงเพราะคุณทำอาหารอร่อยแล้วคุณจะชนะเขา คุณต้องทำทั้งด้านการบริหาร การสร้างแบรนด์ บัญชี และอื่นๆ หลากหลายที่จะต้องทำ เมื่อไม่สามารถบริหารจัดการ รวมทั้งบริหารคน หรือบัญชีสินค้าดีๆ จึงไปไม่ถึงลูกค้า เป็นต้น”
ปัจจัยที่สมาคมฯ จะช่วยผลักดันแฟรนไชส์แบรนด์ไทยมีเรื่องใดบ้าง
สมาคมฯ เรารวมแหล่งผู้รู้มากมายที่มีประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ เรารู้ถึงความต้องการและรายละเอียดของระบบแฟรนไชส์ทั้งหมด นอกเหนือจากความรู้ที่ทางสมาคมฯ โฟกัสแล้ว ยังมี ความเชื่อ ว่าแฟรนไชส์ยังพอไปได้ เรามีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จไปต่างประเทศน้อย การที่มองอะไรในระยะสั้น ไม่ได้มองถึงภาพรวมใหญ่ๆ ทำให้เรายังอยู่กับที่ ในส่วนของความรู้ นอกจากนี้ ความกล้า ก็มีความสำคัญ แต่เมื่อใช้ระบบแฟรนไชส์เข้าไปจัดการระบบทำให้ประสบความสำเร็จได้ เช่น ผมไปลงทุนขยายแฟรนไชส์ที่ลาว 4 สาขา โดยไม่ได้ใช้เงินลงทุนแม้แต่บาทเดียว แต่ได้เงินกลับมาถึง 2 ล้านบาท เพราะใช้ระบบแฟรนไชส์โดยเราไม่ต้องลงทุนเอง เพราะเรามีผู้ลงทุนและเรายังได้เงินลงทุนกลับมาอีกราว 2-3 ล้านบาท ระบบนี้คนอเมริกาทำแบบนี้มา 60 กว่าปีแล้วและประสบความสำเร็จมาก
แฟรนไชส์ที่ต่างชาตินิยมลงทุนมีอะไรบ้าง
แฟรนไชส์ที่เพื่อนบ้านให้ความสนใจอันดับแรก คือ ธุรกิจอาหาร และที่กำลังมาแรงคือ ธุรกิจมวยไทย ซึ่งตอนนี้มวยไทยยังปรับเป็นไลเซนส์อยู่ยังไม่ได้ปรับเป็นแฟรนไชส์ หากแบ่งสัดส่วนจะได้ 1.ธุรกิจอาหาร 60-70 % 2.ธุรกิจการศึกษา 20 % 3.สปา โดยเฉพาะนวดไทยโตมากในตลาดเพื่อนบ้าน 4.ธุรกิจคาร์แคร์ 5.อื่นๆ เช่น มวยไทย ธุรกิจเก็บขยะรีไซเคิล เป็นต้น
ธุรกิจแฟรนไชส์ที่บ้านเรามีทั้งหมด 10 ประเภท ได้แก่ 1.อาหาร 2.เครื่องดื่ม 3.ขนม 4.การศึกษา 5.สปาและนวดไทย 6.คาร์แคร์ 7.ค้าปลีก 8.อสังหาฯ 9.ธุรกิจบริการ เช่น โลจิสติกส์ ขนส่งสินค้า เป็นต้น 10.อื่นๆ ส่วนแฟรนไชส์มาแรงในตอนนี้ คือ แฟรนไชส์ชานม
ข้อจำกัดของธุรกิจแฟรนไชส์
ข้อจำกัดอันดับแรก คือ เรื่องกฎหมาย ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในเรื่องความคุ้มครองของธุรกิจแฟรนไชส์ ทำให้ใครที่อยากจะเปิดแฟรนไชส์ก็สามารถทำได้ง่าย ทำให้เกิดปัญหาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยไม่เติบโต เพราะจะมีธุรกิจแฝงเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ผมเชื่อว่าธุรกิจแฟรนไชส์จะเอื้อประโยชน์ ณ เวลานี้เพราะกำลังคนแรงงานเรากำลังขาด และใช้เงินลงทุนไม่มากนัก
ใน AEC จะมีประเทศที่มีกฎหมายแฟรนไชส์อยู่ 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามที่มีกฎหมายแฟรนไชส์ควบคุมอยู่ นอกนั้นอีก 7 ประเทศอาเซียนยังไม่มี แต่ที่ฟิลิปปินส์แม้ไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์ แต่เขาใช้สมาคมฯควบคุมการรับสมัครสมาชิกแฟรนไชส์ ทำให้แฟรนไชส์ประเทศฟิลิปปินส์เติบโตมากที่สุดในอาเซียน โดยเขาใช้กฎหมายของสมาคมฯควบคุมอายุการเปิดแฟรนไชส์ โดย 2 รอบบัญชีคุณจะต้องมีกำไร โดยเขาใช้ภาคเอกชนดูแลกันเอง ถ้าไม่มีกฎหมายควบคุม ผู้ลงทุนหรือแฟรนไชส์ซีจะโดนหลอกลวงเยอะ ทำให้ไม่มีมาตรฐานทำให้แฟรนไชส์บ้านเราไม่เติบโตในประเทศไทย แต่กลับต่างประเทศกลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“ทั้งหมดคือความยากของแฟรนไชส์ไทย เหมือนก่อนที่ผมรับตำแหน่งเราก็จะทำเพื่อสมาชิก ต่อมาการมีกฎหมายก็ยุ่งยากสำหรับแฟรนไชส์ซอว์ก็เลยไม่สนใจเท่าไร แต่สำหรับผมไม่ได้มีเพียงแต่เจ้าของแบรนด์ แต่มีแฟรนไชส์ซี ซัพไพร์เออร์และองค์กร นั่นหมายความว่าผมดูเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ อย่างไรก็ตามเราก็พยายามผลักดันให้มีกฎหมายแฟรนไชส์แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จึงกลับมาทำให้สมาคมเข้มแข็งให้มีความน่าเชื่อถือให้ประชาชนที่ตัดสินใจลงทุนแฟรนไชส์ซีรู้ว่าสมาคมให้การรับรองหรือไม่ ถ้าเราเดินไปถึงจุดนั้นผู้ลงทุนเองก็สบายใจ ตัวแฟรนไชส์ซอว์ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้มีมาตรฐานมากขึ้น”
สมาคมฯ ให้อะไรกับสมาชิกและสังคมบ้าง
อย่างแรกเลย คือ 1.ให้ความจริงใจก่อน นั่นคือ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่เราทำเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งมีความสำคัญ 2.ให้เวลา เมื่อเราทำงานสาธารณะแล้ว เมื่อได้รับตำแหน่งแล้วก็จะต้องพยายามทำอย่างเต็มที่ ตอนนี้เข้ารับตำแหน่งมาเข้าเดือนที่ 8 ที่ผ่านมาเราพยายามรวบรวมจำนวนซัพไพร์เออร์และองค์กรที่สนใจเข้ามาร่วมงานกับเรา 3.ให้ความรู้ ผมโชคดีที่อินไปกับมัน เพราะผมเกิดมาตั้งแต่เริ่มลงทุนด้วยเงิน 40,000 บาท จนสามารถทำยอดขายได้ถึง 100-200 ล้านบาทก็เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ เรามาจากตรงนี้จริงๆ ซึ่งก็ต้องขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ส่งเสริมแฟรนไชส์ไทย และเราก็เป็นหนึ่งในผลิตผลนั้นที่สามารถกระโดขึ้นมาจาก 40,000 บาท มาเป็น 100-200 ล้านบาทได้ อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าระบบนี้ดี
ตอนนี้ภาครัฐเข้าใจระบบธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น และเริ่มมาพูดคุยกันพร้อมทั้งจะจัดหลักสูตรเพื่อส่งเสริมและผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ ทำให้เรามีความหวังมากขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดนั้นสมาคมฯไม่สามารถดำเนินงานฝ่ายเดียวได้คงต้องร่วมกันหลายๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคธนาคาร แฟรนไชส์ อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนเองก็ต้องมีวินัยในการลงทุนด้วยเช่นกัน
ผลงานหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง
เรารวบรวมสมาชิกเกือบ 400 บริษัท จัดการประชุมทุกเดือน มีการเซ็นต์ MOU กับหน่วยงานเพื่อประโยชน์ของเหล่าสมาชิกประมาณ 10 บริษัทแล้ว สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทั้ง DBD DITP กสอ. และ สสว.พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในส่วนของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, SME Bank,UOB
เป้าหมายนับจากนี้
เราพยายามที่จะพัฒนาให้ความรู้ทั้งแฟรนไชส์ซอว์และซี ผ่านการจัดกิจกรรมให้ความรู้และ 2.การจัดแมชชิ่งให้กับสมาชิกทั้งในและต่างประเทศ 3.เป็นที่ปรึกษาให้กับสมาชิก 4.พัฒนากิจกรรมต่างๆ เราตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิกสมาคมฯ ไว้ที่ 1,000 บริษัท ภายในปี 2563 5.มีแผนการจัดงาน Award ขณะนี้กำลังคุยกับทางออแกไนซ์เกี่ยวกับแฟรนไชส์ยอดนิยม โดยคาดว่าจะจัดในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่จะถึงนี้
“สิ่งที่สมาคมอยากจะฝาก คือ 1.สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์สามารถติดต่อสอบถามผ่านเว็บไซต์หรือเพจเฟสบุ๊คของสมาคมฯ เพื่อขอคำปรึกษาได้ 2.สำหรับแบรนด์สนใจพัฒนาตัวเองเป็นแฟรนไชส์สามารถสอบถามได้เช่นกัน สมาคมฯ ยินดีพร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้เพื่อเข้าสู่การเป็นแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐาน สุดท้ายก็อยากให้กำลังใจสมาคมฯ เพราะถ้าสมาคมฯ เข้มแข็งขึ้นก็จะทำให้วงการธุรกิจแฟรนไชส์เข้มแข็งตามไปด้วย”