โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

เปิดเทอมใหญ่ปี 62 คาดผู้ปกครองในกรุงเทพฯและปริมณฑล ใช้จ่ายประมาณ 28,220 ล้านบาท

ในระหว่างการปิดภาคเรียนฤดูร้อนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนจะมีภาระรายจ่ายและกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างปิดเทอม ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับภาคการศึกษาใหม่ เช่น ค่าเทอม (สำหรับผู้ที่ส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนเอกชน) ค่าบำรุงการศึกษาและกิจกรรมในโรงเรียน ค่าใช้จ่ายหนังสืออุปกรณ์การเรียนและเครื่องแต่งกายนักเรียน เป็นต้น

สำหรับการใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2562 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2562 (นักเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) ในช่วงระหว่างวันที่ 1-28 เมษายน 2562 จากกลุ่มตัวอย่าง 450 คน ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

ผลสำรวจด้านมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ณ ปัจจุบัน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 58.5% มองว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ “ทรงตัว” ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 39.0% มองว่า เศรษฐกิจไทยมีภาวะที่ “ชะลอลง” และจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยก็สะท้อนภาพที่ส่งสัญญาณอ่อนแรงลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้ปกครองกว่า 54.2% มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2562 นี้ (แต่เป็นอัตราที่ลดลงจากผลสำรวจในปีก่อน) โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินมาจากหลายสาเหตุ อาทิ เงินออมไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น จำนวนบุตรที่เข้าเรียนเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์การศึกษาเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าประมาณ 5% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความกังวลนั้น แหล่งเงินที่นำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษามาจากการกู้ยืมและจากการนำของใช้ไปจำนำ

อย่างไรก็ดี แม้ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะมีความกังวลเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน แต่จากผลสำรวจ พบว่า งบประมาณของผู้ปกครองเพื่อการใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2562 นี้ ส่วนใหญ่มองว่า “คงที่” เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองมองว่าเพิ่มขึ้น จะเป็นค่าเรียนพิเศษ/กวดวิชา และการเรียนเสริมทักษะต่างๆ (ดนตรี วาดภาพ และกีฬา เป็นต้น) รองลงมา คือ กลุ่มหนังสือและอุปรกณ์การเรียนต่างๆ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีการปรับลดลงเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าใช้จ่ายๆ คือ กลุ่มเครื่องแต่งกายนักเรียน
จากการรวบรวมข้อมูลของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ราคาสินค้าและค่าบริการด้านการศึกษาหลักๆ ในปีนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม ค่าบำรุงการศึกษาและกิจกรรมต่างๆ ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ขณะที่ในส่วนของสินค้าด้านการศึกษา อาทิ ชุดนักเรียน หนังสือ อุปกรณ์การเรียน ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้ายังคงให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการคงราคาสินค้า รวมถึงผู้ประกอบการในกลุ่มโมเดิร์นเทรด และร้านค้ามีการจัดโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษและการนำแบรนด์สินค้าที่มีราคาไม่สูงมาทำตลาดเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณและภาระรายจ่ายที่สูง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2562 ผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะมีการใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานมูลค่าประมาณ 28,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2.6% เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีที่แล้ว โดยเม็ดเงินนี้ได้คำนึงถึงการออกมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 500 บาทต่อบุตร 1 คน (จ่ายครั้งเดียว) รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา เช่น ค่าใช้จ่ายชุดนักเรียน และกีฬา รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2562 ของภาครัฐแล้ว

สำหรับงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาเพื่อบุตรหลานนั้น นอกจากจะมีค่าเทอม ค่าบำรุงและกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนแล้ว ผู้ปกครองบางรายมีการใช้จ่ายในส่วนของการศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในระบบ อาทิ ค่าเรียนพิเศษ/กวดวิชา (ซึ่งเป็นการเรียนทั้งในสถานที่กวดวิชาและการเรียนเป็นรายชั่วโมงทั้งเรียนเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม) และเสริมทักษะ ซึ่งกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษาของบุตรหลานในสภาวะการแข่งขันทางการศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากผลสำรวจที่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งยังคงมีค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนเรียนพิเศษ/กวดวิชาเพิ่มขึ้น โดยในการเปิดเทอมใหญ่ปีนี้ ค่าเฉลี่ยในการใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 2,500-5,000 บาทต่อคน ซึ่งผู้ปกครองบางรายมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยเพื่อให้บุตรหลานมีความเข้าใจและมีความรู้มากขึ้น สามารถที่จะสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาที่ต้องการและเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จากผลสำรวจสะท้อนว่า ปัจจัยในการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลานนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญอันดับแรกกับชื่อเสียงของโรงเรียน รองลงมา คือ การเดินทางสะดวก ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนัก สภาพแวดล้อมมีความเหมาะสม และความเข้มข้นทางวิชาการ/หลักสูตร ตามลำดับ ทำให้ผู้ปกครองส่วนหนึ่งจะมีการวางแผนทางการเงินเพื่อใช้จ่ายในส่วนนี้

จากผลสำรวจมุมมองของผู้ปกครองต่อการพัฒนาระบบการศึกษาของไทย พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามอยากให้มีการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในระบบให้มีคุณภาพ เพื่อที่จะไม่ต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติม (38.9% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) สำหรับสิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามอยากให้มีการพัฒนารองลงมา คือ การวางแผนการศึกษาของไทยและการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่กำลังจะเปลี่ยนไป และให้เด็กนักเรียนสามารถเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งเมื่อจบออกมามีตลาดแรงงานที่รองรับ เพื่อที่จะสามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้ที่เหมาะสมกับคุณวุฒิในระยะข้างหน้า