รายงานฉบับใหม่ของเอคเซนเชอร์ (NYSE: ACN) เผยว่าราว 3 ส่วน 4 (ร้อยละ 72) ของผู้บริโภคในประเทศไทยจะยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ เช่น ข้อมูลตำแหน่ง (location) และการใช้ชีวิต (lifestyle) กับธนาคารและบริษัทประกันที่ใช้บริการอยู่ เพื่อแลกกับราคาผลิตภัณฑ์และบริการที่ลดลง
โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งงานวิจัยผู้บริโภคในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Financial Services Consumer Study) ที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค 47,000 คนใน 28 ประเทศ รายงานนี้ยังพบด้วยว่า กว่าร้อยละ 70 ของผู้บริโภคไทยจะยินยอมให้ข้อมูลดังกล่าวเมื่อได้ประโยชน์ เช่น การอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็วมากขึ้น หรือได้ส่วนลดในการสมัครสมาชิกสถานออกกำลังกาย หรือได้รับข้อเสนอที่ตรงใจเมื่อไปเยือนตำแหน่งหรือโลเกชั่นปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่เชื่อว่าการรักษาความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยมีมากกว่า 4 ใน 5 ของผู้บริโภค (ร้อยละ 83) ที่กล่าวว่า พวกเขาระมัดระวังมาก ๆ เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลตน อันที่จริงแล้ว ประเด็นการละเมิดความปลอดภัยของข้อมูลเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคในไทยเป็นกังวลที่สุด ซึ่งเชื่อมโยงกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เมื่อพวกเขาถูกถามถึงปัจจัยที่จะทำให้เลิกใช้บริการธนาคารหรือบริษัทประกันเดิม
“มีความสนใจต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์บุคคลมากขึ้น ซึ่งตรงจุดตามข้อมูลการเงินของผู้บริโภค” นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว
“การที่คนจำนวนมากยอมแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวแลกกับบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในราคาที่ดีกว่าเดิมนั้น แสดงให้เห็นชัดว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อการจำหน่ายและให้บริการทางการเงินในประเทศนี้ ขณะเดียวกัน ก็มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สถาบันการเงินจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอันดับแรก หากต้องการเจาะความต้องการใหม่ ๆ ของลูกค้า เพราะถ้าผู้บริโภคไม่เห็นว่า ข้อเสนอหรือผลิตภัณฑ์ใดจากธนาคารหรือบริษัทประกันที่ใช้บริการอยู่ มีการพัฒนาให้ตอบโจทย์หรือเหมาะกับตน พวกเขาก็พร้อมที่จะมองหาทางเลือกที่อื่นแทน”
ผู้บริโภคไทยแสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้มีค่าเบี้ยประกันภัยที่เหมาะกับแต่ละบุคคล โดยร้อยละ 87 สนใจรับเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่ปรับตามประวัติการขับขี่อย่างปลอดภัย และร้อยละ 73 ยอมแลกกับเบี้ยประกันชีวิตที่มีส่วนช่วยให้มีไลฟ์สไตล์ที่ดูแลสุขภาพ ซึ่งคนไทยเลือกตัวเลือกเหล่านี้เป็นอัตราสูงที่สุดในโลก สำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ (ร้อยละ 95) จะยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัว รวมทั้งข้อมูลรายได้ โลเกชั่นและนิสัยในการใช้ชีวิตกับบริษัทประกันที่ใช้บริการอยู่ หากจะช่วยให้โอกาสการบาดเจ็บและสูญเสียลดลง
ในแวดวงธนาคาร พบว่าร้อยละ 94 ของลูกค้าจะยินยอมให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ โลเกชั่น และนิสัยในการใช้ชีวิต เพื่อแลกกับการได้รับอนุมัติสินเชื่อโดยเร็ว และร้อยละ 93 จะยอมแลกกับการได้รับข้อเสนอที่ตอบโจทย์ของแต่ละคน ณ ตำแหน่งปัจจุบัน เช่น ส่วนลดต่าง ๆ จากร้านค้าปลีก เป็นต้น ทั้งนี้ ราว 3 ส่วน 4 (ร้อยละ 77) ของผู้บริโภคต้องการให้ธนาคารของพวกเขาแจ้งจำนวนเงินล่าสุดที่มีไปจนถึงวันเงินเดือนออกครั้งถัดไป และร้อยละ 78 ต้องการเคล็ดลับการออมที่สอดคล้องกับนิสัยการจับจ่าย
“ผู้บริโภคไทยยินดีให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ หากเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และทำให้ได้รับบริการและข้อเสนอที่ตรงจุด และยินดียิ่งกว่าผู้บริโภคอื่น ๆ ในโลก แสดงให้เห็นโอกาสมหาศาลสำหรับธนาคารและบริษัทประกันในประเทศนี้” นายนนทวัฒน์กล่าว “แม้จะมีโอกาสและศักยภาพสูงในประเทศไทย แต่ธนาคารและบริษัทประกันก็ต้องใส่ใจประเด็นข้อกังวลที่มีมากขึ้น ด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล โดยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเป็นอันดับแรกในเวลาที่ลงทุนไปกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และบริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ”
ความสนใจให้ข้อมูลแตกต่างกันไปทั่วโลก
ความสนใจให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญกับบริษัทด้านการเงินในจีนและอินเดีย มีในระดับสูง โดยร้อยละ 67 และ 69 ของผู้บริโภคในสองประเทศนี้ตามลำดับ จะยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวมากขึ้นเพื่อแลกกับการได้รับการบริการที่ตอบโจทย์ส่วนบุคคล อัตราส่วนนี้ยิ่งสูงขึ้นไปอีกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีถึงร้อยละ 81 ของผู้ตอบแบบสำรวจในอินโดนีเซีย และร้อยละ 74 ในประเทศไทยที่จะยินยอมให้ข้อมูลดังกล่าว ส่วนในสหรัฐฯ มีผู้บริโภคเพียงครึ่งเดียว (ร้อยละ 50) และมีเพียงร้อยละ 42 ในออสเตรเลีย ที่ยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวเพิ่มขึ้นแลกกับบริการที่ตอบโจทย์ส่วนบุคคล ในขณะที่ในยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (General Data Protection Regulation) ใช้บังคับเมื่อเดือนพฤษภาคมนั้น พบว่าผู้บริโภคมีความคลางแคลงต่อการให้ข้อมูล ตัวอย่างเช่น มีเพียงร้อยละ 40 ของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรและเยอรมนีที่กล่าวว่า พวกเขาจะยินดีให้ข้อมูลกับธนาคารและบริษัทประกันมากขึ้น เพื่อแลกกับบริการที่ตอบโจทย์ส่วนบุคคล
ข้อมูลจาก : accenture.com/FSConsumerStudy2019