โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ กรมสรรพากร และสภาวิชาชีพบัญชี ช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ กรมสรรพากร และสภาวิชาชีพบัญชี ...ช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทย กรณีเคยนำส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีอากรผิดพลาด... ไม่ต้องเสียค่าปรับ-เงินเพิ่ม และความรับผิดทางอาญา พร้อมเปิดช่องทางพิเศษ...รับงบการเงินฉบับแก้ไขทาง DBD e-Filing เชื่อ!! แสดงข้อมูลอย่างโปร่งใส่ สบายใจทั้งรัฐและเอกชน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ กรมสรรพากร และสภาวิชาชีพบัญชี ช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทย กรณีเคยนำส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีอากรผิดพลาด ไม่ต้องกลัวเสียค่าปรับ-จ่ายเงินเพิ่ม หรือมีความผิดทางอาญา โดยให้ลงทะเบียนขอยกเว้นเบี้ยปรับฯ กับกรมสรรพากร พร้อมชำระเงินภาษีอากรส่วนขาดให้ครบทั้งจำนวน

ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 สำหรับงบการเงินฉบับแก้ไขให้นำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทาง DBD e-Filing เพียงเท่านี้ ก็สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น เชื่อ!! แสดงข้อมูลอย่างโปร่งใส่ สบายใจทั้งรัฐและเอกชน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ขณะนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับ กรมสรรพากร และสภาวิชาชีพบัญชี ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย กรณีเคยนำส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีอากรผิดพลาด โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ-จ่ายเงินเพิ่ม หรือ มีความผิดทางอาญา ภายใต้ พ.ร.บ.ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความผิดทางอาญา

เนื่องจากทั้ง 3 หน่วยงาน เข้าใจถึงสภาพการที่แท้จริงของเอสเอ็มอีว่ายังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำบัญชีที่ถูกต้องตามหลักการบัญชีและส่งผลให้ชำระภาษีไม่ครบถ้วนซึ่งอาจได้รับโทษทางแพ่งและอาญา ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ช่วยบรรเทาภาระแก่ผู้ประกอบการที่ชำระภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้อง จึงได้ร่วมกันออกมาตรการฯ ดังกล่าวขึ้น"

"ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมมาตรการฯ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ (1) เป็นนิติบุคคลที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิ มีรายได้ทางภาษี ไม่เกิน 500 ล้านบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายที่ครบ 12 เดือน ซึ่งสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2561 (2) ได้ยื่นแบบภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.50) ของรอบบัญชีที่สิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2561 ภายในวันที่ 25 มีนาคม 2562 (3) ไม่เป็นผู้ออก/ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมที่กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ฯ บังคับใช้ (25 มีนาคม 2562)"

อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้นที่จะได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มและได้รับการยกเว้นความผิดทางอาญา ต้องดำเนินการดังนี้ (1) ลงทะเบียนต่อกรมสรรพากร (www.rd.go.th) และยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรทุกประเภท

พร้อมทั้งชำระภาษีให้ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 (2) ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงงบการเงินให้ถูกต้อง และ (3) ยื่นแบบภาษีอากรทุกประเภทผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากรต่อไปอีก 1 ปี (1 กรกฎาคม 2562 ถึง 30 มิถุนายน 2563)"

"สำหรับแนวทางการปรับปรุงงบการเงิน ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ร่วมกันจัดทำตัวอย่างประกอบความเข้าใจ เช่น กรณีตรวจพบว่าสินค้าในบัญชีสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง กรณีลูกหนี้หรือเจ้าหนี้กรรมการไม่มีจริง กรณีที่ดินหรือสินทรัพย์อื่นที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกิจการแต่ไม่เคยบันทึกบัญชีไว้ เป็นต้น

โดยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชี www.tfac.or.th หัวข้อ ข่าวสารสภาวิชาชีพบัญชี หัวข้อย่อย "ตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจในการปรับปรุงบัญชีเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด" ซึ่งเมื่อได้ปรับปรุงงบการเงินแล้ว หากมีความประสงค์จะนำส่งงบการเงินฉบับใหม่ทดแทนฉบับเดิมที่มีข้อผิดพลาด กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดช่องทาง Fast Track อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ

โดยดำเนินการดังนี้ (1) แจ้งความประสงค์ขอแก้ไขและนำส่งงบการเงินฉบับใหม่ผ่าน Google Forms : https://forms.gle/Pg74RUXh4 rNu4uEh8 พร้อมแนบหลักฐานการลงทะเบียนกับกรมสรรพากร (2) เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลแล้วจะแจ้งการเปิดสิทธิให้สามารถส่งงบการเงินฉบับใหม่ ผ่านทาง DBD e-Filing ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (3) เมื่อผู้ประกอบการส่งงบการเงินฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะอนุมัติให้แบบเร่งด่วน ทั้งนี้ ช่องทาง Fast Track จะเปิดให้บริการถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เท่านั้น หากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้ว ให้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือไปยังกองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า"

อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า "มาตรการภาครัฐดังกล่าว จะช่วยสร้างความโปร่งใสและยกระดับธรรมาภิบาลให้แก่ภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี ทำให้ภาคธุรกิจมีความน่าเชื่อถือสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น และสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ และที่สำคัญจะทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้สะดวก รวดเร็ว ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต"

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มภาษีอากร ได้ที่กรมสรรพากร สายด่วน 1161 www.rd.go.th และการนำส่งงบการเงินผ่าน DBD e-Filing ได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองข้อมูลธุรกิจ 0 2547 4377, 0 547 4390-91 e-Mail: [email protected] หรือ สายด่วน 1570