เอ็นไอเอ เตรียมรุกนำนวัตกรรมไขปัญหาเหลื่อมล้ำนำร่อง 6 หมู่บ้าน หวังยกคุณภาพชีวิตใหม่ให้ยั่งยืนถึงระดับโมเลกุล
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เร่งลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้วยการใช้กลไกการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) โดยมุ่งเชื่อมโยงให้นักวิจัย อาจารย์ ผู้ประกอบการ ฯลฯ นำผลงานวิจัย และไอเดียต่างๆ มาพัฒนาเป็นเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับปัญหาทางสังคม
สำหรับ ในปี 2562 ยังมีความตั้งใจในพัฒนาคุณภาพชีวิต และพื้นที่ระดับหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น จึงริเริ่มโครงการ “หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ” เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ - ความยากจนในระดับที่เล็กลง ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว 3 พื้นที่ ได้แก่
- ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
- ชุมชนอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
- ชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท
พร้อมเตรียมยกระดับเพิ่มเติมอีก 3 พื้นที่ ได้แก่
- ชุมชนจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
- ชุมชนเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
- ชุมชนแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังมีการเผยว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนคนจนปรับตัวลดลงจาก 13.1 ล้านคนเหลือ 5.3 ล้านคน อย่างไรก็ตาม แม้ความยากจนจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับไม่ได้ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา สวัสดิการทางสังคม และคุณภาพของระบบสาธารณสุข
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ถือเป็นปัญหาที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากเป็นจุดเปราะบางและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ทั้งโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของประชากร
การกระจายรายได้ การพัฒนาความสามารถกำลังคนให้สอดคล้องกับสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และยกระดับสถานะไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ในระยะเวลาที่ควรจะเป็น
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า ในช่วงตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา NIA มีความมุ่งมั่นในการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยด้วยการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปใช้ในระดับพื้นที่ โดยมีกลไกการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) เป็นตัวเชื่อมโยงนักวิจัย อาจารย์ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจเพื่อสังคม ให้เกิดการนำต้นแบบความคิด ผลงานวิจัย และไอเดียต่างๆ
มาพัฒนาเป็นเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับปัญหาทางสังคมหลากหลายด้าน เช่น การจัดการภัยพิบัติ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การจัดการพลังงาน การจ้างงานและสวัสดิการสังคม ฯลฯ ซึ่งได้ร่วมกับผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆ พัฒนาโครงการไปแล้วทั้งสิ้น 115 โครงการ ภายใต้การให้ทุนสนับสนุน 116 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและการลงทุนเพิ่มขึ้น 759 ล้านบาท
ตัวอย่างโครงการ อาทิ TrainKru : การฝึกอบรมและพัฒนาครูด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษา และการเข้าถึงเทคโนโลยีการสอนสำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกล Pannana : โปรแกรมช่วยแปลภาษาและการอธิบายภาพสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น บั๊ดดี้ โฮมแคร์ : ระบบดูแลผู้สูงอายุ โดยเด็กด้อยโอกาส เป็นต้น
สำหรับ ในปี 2562 NIA ยังมีความตั้งใจในพัฒนาคุณภาพชีวิต และพื้นที่ระดับหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น จึงได้ริเริ่มโครงการ “หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม : Social Innovation Village” เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ - ความยากจนในระดับที่เล็กลง รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มที่ตรงกับความต้องการของคนในแต่ละชุมชน
โดยในระยะที่ 1 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 3 ชุมชนได้แก่ ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ชุมชนอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ส่วนในระยะที่ 2 กำลังเปิดรับผลงานนวัตกรรมอีก 3 พื้นที่ คือ
- ชุมชนจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในหัวข้อนวัตกรรมการตลาดสำหรับสินค้าชุมชน นวัตกรรมการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม นวัตกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ และนวัตกรรมพลังงานทดแทน
- ชุมชนเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ในหัวข้อ นวัตกรรมการตลาดสำหรับสินค้าชุมชน นวัตกรรมการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม นวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และนวัตกรรมพลังงานทดแทน
- ชุมชนแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในหัวข้อ นวัตกรรมแปรรูปกาแฟ นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำ นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ และนวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรม
ซึ่งได้เปิดรับข้อเสนอนวัตกรรมตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 โดยผลงานนวัตกรรมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุนสูงสุดโครงการละไม่เกิน 1.5 ล้านบาท พร้อมขึ้นทะเบียนเป็นผลงานนวัตกรรมแก้จน และจะนำไปใช้จริงในพื้นที่เป้าหมายต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Social.nia.or.th
ด้าน นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า แม้ไทยจะยังเผชิญกับสภาวะความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แต่ก็พบว่าแนวโน้มความยากจนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนคนจนและสัดส่วนคนจนต่อประชากรปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ซึ่งลดลงจาก 13.1 ล้านคนเหลือ 5.3 ล้านคน
โดยสัดส่วนคนจนค่อยๆปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค แต่จังหวัดที่ยังเผชิญกับปัญหาความยากจนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน กาฬสินธ์ นครพนม ตาก ชัยนาท บุรีรัมย์ สระแก้ว และพัทลุง โดยความยากจนยังคงกระจุกตัวในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาความยากจนจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับไม่ได้ลดลงในระดับที่น่าพึงพอใจนัก โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่อยู่ในด้านการศึกษา สวัสดิการทางสังคม และคุณภาพของระบบสาธารณสุข
โดยในส่วนของการศึกษา สิ่งที่เป็นอุปสรรคและถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ผลลัพธ์ทางการเรียนการสอนเพื่อนำไปใช้ในการทำงานและการประกอบอาชีพของแต่ละพื้นที่ที่ยังมีความแตกต่างกัน รวมถึง การเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้นจากขั้นพื้นฐาน ที่คนรวยมักจะมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีมากกว่าคนจน ส่วนทางด้านสวัสดิการทางสังคม
ปัญหาที่พบคือ ความครอบคลุมของสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ในหลายๆพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ เด็ก และสตรี และอุปสรรคที่พบในด้านคุณภาพของระบบสาธารณสุขคือ ความรวดเร็วและจำนวนที่เพียงพอของสถานที่กับจำนวนผู้ใช้บริการ และมาตรฐานในการให้บริการที่ยังคงมีความแตกต่างกันทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ยังได้ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดกิจกรรมการสัมมนา เรื่อง "นวัตกรรมกับการแก้ปัญหาความยากจน” โดยมีบรรยายพิเศษเรื่อง “บริบทของความยากจนต่อนวัตกรรม" และ "รายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย” พร้อมด้วยการเสวนาในหัวข้อ “ปัญหาความยากจนและแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่เป้าหมาย” รวมไปถึงมีการนำเสนอตัวอย่างนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาความยากจน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand