ปัจจุบันเมื่อความเจริญทางด้านเทคโนโลยีสามารถอำนวยความสะดวกให้กับคนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารการกินที่วันนี้เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเสาะแสวงหาของกิน เพียงใช้แอฟพลิเคชั่นสั่งอาหาร ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายแอปฯ ดังนั้น ธุรกิจ Food Delivery จึงมีแนวโน้มเติบโตสูงและต่อเนื่อง
โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร พบว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วและความนิยมของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารได้ดึงดูดผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหารให้เข้ามาขยายตลาด ก่อให้เกิดโอกาสและความท้าทายที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนธุรกิจ นอกจากนี้ ยังอาจกระตุ้นให้เกิดการควบรวมกิจการของผู้ประกอบการภายในห่วงโซ่ธุรกิจมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยเร่งการขยายตัวของธุรกิจ Food Delivery แต่แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) ยังช่วยกระจายรายได้ให้กับผู้เล่นในห่วงโซ่ธุรกิจ อาทิ ร้านอาหาร กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร โดยคาดว่ารายได้ที่กระจายไปยังผู้เล่นภายในประเทศมีสัดส่วนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery)
นอกจากนี้ เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจ Food Delivery มีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจร้านอาหาร ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ในปี 2562 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 33,000 – 35,000 ล้านบาท หรือ เติบโตประมาณร้อยละ 14 จากปี 2561
แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร เทคโนโลยีที่ช่วยเร่งการขยายตัว และเพิ่มการกระจายรายได้ให้กับผู้เล่นในห่วงโซ่ธุรกิจ Food Delivery
นอกจากการเติบโตเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 10 ต่อปีแล้ว ธุรกิจการจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ในปัจจุบันนั้นมีการพัฒนาอย่างมากทั้งในแง่ ความเร็ว และความหลากหลายของประเภทอาหารที่มีให้เลือกมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการเข้ามาของผู้เล่นจากนอกอุตสาหกรรมที่เข้ามานำเสนอทางเลือกใหม่ๆให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงเข้ามาดึงส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจ Food Delivery
แรงผลักดันการเติบโตของธุรกิจ Food Delivery มาจากทั้งการขยายตลาดของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารและความพยายามที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดของเครือร้านอาหาร
1.แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) ผู้เล่นหน้าใหม่ที่สร้างจุดเปลี่ยนในธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงมีบทบาทในธุรกิจประเภทนี้มากยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นจากทั้งจำนวนร้านอาหารที่เข้ามาอยู่ในระบบมากยิ่งขึ้น หรือจะเป็นจำนวนการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นที่เพิ่มมากขึ้นโดยมีผู้ประกอบการบางรายมีจำนวนเฉลี่ยการสั่งอาหารต่อเดือนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยผู้เล่นในกลุ่มนี้ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางที่รวบรวมร้านอาหารหลายๆ ร้านเข้าด้วยกันรวมไปถึงนำเสนอบริการจัดส่งอาหารให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งผู้เล่นส่วนใหญ่จะเป็นแอปพลิเคชั่นต่างชาติที่ให้บริการจัดส่งสินค้าหลายประเภทและครอบคลุมไปยังบริการจัดส่งอาหารอีกด้วย ขณะเดียวกันก็มีผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าไทยบางรายที่พยายามเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดโดยการเพิ่มบริการจัดส่งอาหารในธุรกิจของตน แต่ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เล่นในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารจะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่แต่กลับพบว่าเป็นกลุ่มที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูง รวมไปถึงเป็นกลุ่มที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจการจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery)
2.เครือร้านอาหารที่มีบริการจัดส่งสินค้า ผู้นำตลาดที่จำเป็นต้องปรับตัวจาก Digital Disruption โดยในอดีตผู้เล่นในกลุ่มนี้จะมีประเภทของอาหารจำกัดอยู่แค่เพียง อาหารจานด่วน อาทิ พิซซ่า ไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ดีจากการที่แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารมีการเติบโตและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการเครือร้านอาหารที่มีบริการจัดส่งสินค้า จำเป็นต้องมีการปรับแผนธุรกิจเพื่อให้รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีอยู่ได้ โดยการเพิ่มช่องทางการสั่งซื้ออาหารและความหลากหลายของประเภทอาหาร ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังพบอีกว่าแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร มีส่วนช่วยให้มูลค่าของธุรกิจ Food Delivery ขยายตัวมากยิ่งขึ้น เป็นผลจากการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในการเดินทางไปยังร้านอาหารมาเป็นค่าจัดส่งสินค้า ซึ่งรายได้ส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้นยังได้กระจายตัวไปยังผู้เล่นต่างๆในห่วงโซ่ธุรกิจอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น
1.ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง มีทางเลือกของอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มเติมโดยการรับงานผ่านแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารที่มีให้เลือกมากมาย ซึ่งคาดว่ากลุ่มผู้ขับขี่รถจักยานยนต์นี้ น่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มูลค่าประมาณ 3.9 พันล้านบาท
2.ร้านอาหารซึ่งรวมถึงร้านอาหารขนาดเล็กและขนาดกลาง สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มรวบรวมร้านอาหารเพื่อขยายจำนวนฐานลูกค้าโดยที่ไม่ต้องเพิ่มทรัพยากรเงินทุนและแรงงานในส่วนของระบบขนส่งเอง ทำให้อาจมียอดขายเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของฐานลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งอาจมีส่วนแบ่งของรายได้มูลค่าประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ทางฝั่งของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร ก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากค่าบริการที่ได้รับทั้งทางฝั่งร้านอาหารและผู้บริโภค ทำให้อาจมีส่วนแบ่งของรายได้ประมาณ 3.4 พันล้านบาท จากมูลค่ารวมของธุรกิจ Food Delivery ในปี 2562 ที่ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท
การเข้ามาของ แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) ไม่เพียงส่งผลต่อผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหาร แต่ยังมีผลทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป สะท้อนจากผลสำรวจ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่ากลุ่มตัวอย่างสูงถึง ร้อยละ 63 คิดว่าการมีบริการสั่งอาหารผ่าน Application ประเภทต่างๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของตน โดยทำให้เปลี่ยนมาสั่งอาหารผ่าน Application มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงทำให้มีการออกไปนั่งรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลงอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ร้อยละ 88 ของกลุ่มตัวอย่างเคยใช้บริการสั่งอาหารผ่าน Application ประเภทต่างๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากโปรโมชั่นและส่วนลดที่ทางผู้ประกอบการได้ทำแข่งขันกัน ซึ่งการสั่งมาทานส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งมาทานกับครอบครัวและเพื่อน
การเข้ามาของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) ไม่เพียงแต่มีส่วนผลักดันให้ธุรกิจการจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) มีการขยายตัวแต่ยังมีส่วนช่วยเพิ่มการกระจายรายได้ให้กับผู้เล่นในห่วงโซ่ธุรกิจอีกด้วย ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารอย่างน่าสนใจ โดยมีผลทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันของตนเองให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น อาทิ โดยการเพิ่มช่องทางการสั่งซื้ออาหารและความหลากหลายของประเภทอาหาร รวมไปถึงการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การเข้ามาของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) ยังอาจกระตุ้นให้เกิดการร่วมมือและควบรวมกิจการของธุรกิจในห่วงโซ่ร้านอาหารมากขึ้นกว่าในอดีต และส่งผลต่อเนื่องให้พฤติกรรมของผู้บริโภคมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ในปี 2562 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 33,000 – 35,000 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องราวร้อยละ 14 จากปีก่อน และคิดเป็นร้อยละ 8 ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทยในปี 2562