โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กคช.เคาะแผน 4 โมเดล พัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตในชุมชน เผยดัชนี Q2 ขยับขึ้น

การเคหะแห่งชาติจัดแถลงข่าวชี้ดัชนีการอยู่อาศัยของครัวเรือนผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2562 เนื่องจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง เผยแผน 4 โมเดล พัฒนาโครงการและชุมชนประสบความสำเร็จทำให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนโดยรวมดีขึ้น

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติดำเนินโครงการ “ดัชนีการอยู่อาศัยของชุมชนการเคหะแห่งชาติ (CHI : Community Housing Index)” เพื่อติดตามและประเมินผลการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรวมของครัวเรือนผู้อยู่อาศัยในโครงการของ การเคหะแห่งชาติ ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมา ดัชนีในด้านต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการสุ่มสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจากครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติจากทั่วประเทศกว่า 5,540 ครัวเรือน พบว่าในไตรมาสที่ 2 ดัชนีการอยู่อาศัยของชุมชน ทั้ง 3 ด้าน สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในไตรมาสแรกของปี 2562 โดยตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจของไตรมาสที่ 2 ปี 2562 (เมษายน – มิถุนายน) มีค่า 59.4 ซึ่งสูงกว่าค่ากลาง (กลาง = 50) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 57.8 เนื่องจากครัวเรือนมีความพึงพอใจต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมของชุมชนที่ดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมา โดยประเมินได้จากความพึงพอใจต่อการหารายได้ที่เพิ่มมากขึ้น และการจับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้น รวมถึงการใช้หนี้สินต่างๆ ที่ดีขึ้น ส่วนตัวชี้วัดด้านสังคมในไตรมาสที่ 2 มีค่าดัชนีเท่ากับ 59.6 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางและไตรมาสที่ 1 ที่มีค่าเท่ากับ 59.2 เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 ครัวเรือนมีความพึงพอใจต่อสภาพสังคมชุมชนของตนเองมากขึ้นกว่าในไตรมาสที่ผ่านมา โดยประเมินได้จากความพึงพอใจต่อความปลอดภัยในชุมชน รวมถึงชุมชนมีการพึ่งพาอาศัยกันเองมากยิ่งขึ้น การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และการแก้ปัญหายาเสพติดทำให้ค่าคะแนนความพึงพอใจเพิ่มขึ้นในทุกประเด็น และสุดท้ายตัวชี้วัดด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อมในไตรมาสที่ 2 มีค่าดัชนีเท่ากับ 61.2 สูงกว่าค่ากลางและไตรมาสที่ 1 ที่มีค่าเท่ากับ 60.0 เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 ครัวเรือนมีความพึงพอใจต่อการดูแลรักษาสภาพของชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยรวมอยู่ในระดับที่ดีกว่าในไตรมาสที่ผ่านมา โดยครัวเรือนให้ความพึงพอใจต่อความสะอาด การดูแลเรื่องขยะ การกำจัดของเสีย และการดูแลสาธารณูปโภคภายในชุมชน จึงทำให้ระดับคะแนนเพิ่มมากขึ้นในทุกประเด็น

ซึ่งจะเห็นได้ว่าดัชนีการอยู่อาศัยของชุมชนการเคหะแห่งชาติมีการขยับขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยมีผลมาจากปัจจัยส่งเสริมจากในหลายๆ ด้าน ที่ส่งผลต่อความพึงพอใจของชาวชุมชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจภาพรวมที่ยังขยายตัวขึ้น และมีการปรับตัวดีขึ้นจากการลงทุนของภาคเอกชน และการลงทุนต่อเนื่องของภาครัฐ อีกทั้งการดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนฐานรากตามนโยบายรัฐที่ดำเนินการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ทำให้ส่งผลเชิงบวกต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและในระดับฐานราก

ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติคาดว่าในไตรมาสที่ 3 ค่าดัชนีการอยู่อาศัยของชุมชนในด้านต่างๆ ของครัวเรือนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีแนวโน้มที่จะลดลงเนื่องจากในครัวเรือนอาจจะมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วง เปิดเทอม รวมถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงทำให้ครัวเรือนขาดความมั่นใจต่อเศรษฐกิจในอนาคต แต่อย่างไรก็ดีครัวเรือนยังหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีการออกนโยบายช่วยเหลือเรื่องรายได้และค่าครองชีพ รวมถึงแก้ปัญหาหนี้สิ้นของครัวเรือนให้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน

สำหรับแผนการพัฒนาโครงการและคุณภาพชุมชน ได้รับการตอบรับและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนชุมชนได้ดีขึ้น โดยสามารถสร้างกำไรให้กับการเคหะแห่งชาติร่วม 1,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 โมเดลบริหาร ได้แก่

1.พัฒนาโครงการในที่ดินของการเคหะแห่งชาติเอง ซึ่งขณะนี้เหลือพัฒนาประมาณ 10,000 หน่วย ราคาเฉลี่ยต่อยูนิตประมาณ 7 แสนบาท

2.จับมือกับเอกชน โดยเปิดให้เอกชนร่วมพัฒนาด้วย ซึ่งมีข้อดีคือไม่ต้องรองบประมาณจากทางภาครัฐ ทำให้สามารถดำเนินการได้เลย โดยรูปแบบการพัฒนาโครงการจะเป็นแบบ Mix Use โดยให้ผลตอบแทนกับภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาเช่าซื้ออาจมีปรับขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ทางการเคหะฯ เองได้มีการเจรจากับผู้ร่วมทุนพัฒนาหน่วยอยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่เหมาะสมได้ ในสัดส่วนราว 40 %ของโครงการ

3.เขียนแผนพัฒนาโครงการเพื่อนำเสนอการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น บ้านพักตำรวจ บ้านพักทหาร หรือหน่วยงานราชการที่มีสวัสดิการในเรื่องที่พักให้กับข้าราชการ เป็นต้น โดยมีแผนที่จะพัฒนาหลายพันหน่วยในอนาคต

4.เปิดการอบรมให้ความรู้ในท้องถิ่นหรือชนบทต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีกับชุมชน ทำให้คนในชุมชนสามารถพัฒนาชุมชนได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนเอง